พาณิชย์ปลุกใช้ประโยชน์ FTA พร้อมรับฟังความคิดเห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2008 16:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศโชว์วิสัยทัศน์ประเทศไทยผ่านการสัมมนา ไทยกับการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (FTA) : ปัจจุบันและย่างก้าวต่อไป มุ่งเน้นสองปัจจัยหลัก ทบทวนแนวทางใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาให้มากที่สุด ส่วนสาระสำคัญการอภิปรายเน้นเรื่อง ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะลงนามเดือนเมษายน ศกนี้ ซึ่งผลของการตกลงทำให้มีเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน  สูงกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน- เกาหลี ที่สรุปการเจรจาในกรอบความตกลงแล้ว
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานการสัมมนา “ไทยกับการเจรจาการเปิดเสรีทางการค้า (FTA): ปัจจุบันและย่างก้าวต่อไป” เปิดเผยถึงย่างก้าวต่อไปของการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าว่าจะมุ่งเน้นสองประเด็นหลักคือ การทบทวนแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้ง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว และที่กำลังจะลงนามความตกลงในเร็วๆนี้ คือ อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลี เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนออกไปเจาะตลาดสินค้า และบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และประเด็นที่สองคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาให้มากที่สุด โดยเน้นการรับฟังความเห็นให้ทั่วถึงทุกระดับ ทั้งสมาชิกผู้แทนในรัฐสภา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างประเทศในเวทีต่างๆที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และที่รัฐบาลอาจจะต้องเริ่มเจรจาอีกในอนาคตมีความโปร่งใส เป็นที่เข้าใจ และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไทยเป็นสำคัญ
“ ประเทศไทยมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งในแง่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันการขยายการค้าในตลาดเดิมและการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆในต่างประเทศทำได้ยากขึ้นเพราะมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย รัฐบาลจึงมีนโยบายการเจรจาความตกลงการค้าเสรีโดยมีวัตถุประสงค์หลายด้าน ได้แก่ เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออกของไทยในตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดย FTA จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งที่ไม่ได้ทำ FTA ช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคเอเชียและช่วยกระตุ้นให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตภายในประเทศให้ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบนเวทีโลก” นายวิรุฬกล่าว
นายวิรุฬกล่าวเสริมต่อไปว่า “ปัจจุบันไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในกระแส FTA ค่อนข้างมาก โดยมีการเจรจาทั้งรูปแบบ 2 ฝ่าย และ FTA ภายใต้กรอบอาเซียน โดยเฉพาะการเจรจาของอาเซียนกับคู่เจรจานอกอาเซียนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการรวมตัวเพื่อนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 (พ.ศ. 2558) นอกจากแผนการเปิดเสรีแล้ว ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังกำหนดให้อาเซียนมีการเจรจา FTA กับประเทศนอกกลุ่ม อันนอกจากจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้การเปิดเสรีในด้านต่างๆเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว ยังจะช่วยให้มีการเชื่อมโยงอาเซียนกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาเซียนได้กำหนดให้มีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับแต่ละประเทศนอกกลุ่มที่สำคัญได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และสหภาพยุโรป
นายวิรุฬกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ FTA ที่เจรจาเสร็จแล้ว 5 ฉบับคือ ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย จำนวน 82 รายการ ,ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-จีนนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งออกของประเทศไทย โดยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การค้ากับทุกประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย แต่สำหรับประเทศจีน แม้ว่าไทยจะยังขาดดุลการค้าอยู่ แต่หลังจากทำ FTA อาเซียน — จีนแล้ว การขาดดุลมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง “แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจทำ FTA นั้นรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมสูงสุดที่ประเทศจะได้รับเป็นหลัก สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบได้กำหนดให้ดูแลตั้งแต่ในขั้นตอนการเจรจา โดยเจรจาให้มีการเปิดเสรีน้อยที่สุด ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น 15-20 ปี เพื่อเพิ่มเวลาในการปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังมีการเตรียมมาตรการรองรับโดยการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือในการปรับตัวทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ด้วย”
“ในปัจจุบันสินค้าที่ไทยส่งออกได้มากขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ รถปิกอัพ เครื่องปรับอากาศ ทูน่ากระป๋อง เครื่องประดับต่างๆ และผลไม้ไทยที่เคยติดมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดก็เข้าไปในออสเตรเลียได้แล้ว เช่น มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย และผลไม้ที่แกะเปลือก เช่น สับประรด ทุเรียน และส้มโอ ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งไปนิวซีแลนด์ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติกอาหารทะเลกระป๋อง และผักผลไม้ที่เข้าตลาดได้แล้ว ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ขิงสด ทุเรียน (แกะเปลือก) และยังมีโครงการความร่วมมือด้านปศุสัตว์กับนิวซีแลนด์อีกด้วย ส่วนประเทศจีน สินค้าที่ได้ประโยชน์จาก FTA ชัดเจน เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้เมืองร้อน เช่น ลำไย ทุเรียน มะม่วง มังคุด เป็นต้น สำหรับในส่วนของอินเดีย นั้นสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น เม็ดพลาสติก อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ