กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บุกภูเก็ตให้ความรู้ ความเข้าใจ พร้อมดันการค้า รอบด้าน ไทย-อินเดีย ด้วยสัมมนา “ตะลุยภารตะ: ขุมทรัพย์ทางการค้า”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2008 16:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          หลังจากประสบความสำเร็จจากการจัดสัมมนาเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เดินสายจัดสัมมนาเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่องตามภูมิภาคต่างๆ ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจตลาดอินเดีย และเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในกรอบไทย-อินเดียอาเซียน-อินเดีย ภายใต้หัวข้อ “ตะลุยภารตะ ขุมทรัพย์การค้า”เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2551 ได้จัด ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ จ.ภูเก็ต โดย นายชนะ  คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “อินเดียเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีศักยภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมี GDP ร้อยละ 8 ต่อปี เศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากจีน ประกอบกับแนวคิดที่สอดคล้องกันในการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นนั้น เป็นจุดเริ่มต้นในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างกัน และเป็นกลไกที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุนระหว่างกันด้วย”
สำหรับการเปิดสัมมนาครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า “จังหวัดภูเก็ตมีความเจริญเติบโตด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรในท้องถิ่นที่หลากหลาย ซึ่งอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญประกอบด้วย อุตสาหกรรมถลุงแร่ดีบุก อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา อุตสาหกรรมปลาป่น และอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ชาวภูเก็ตยังมีอาชีพทำสวนยางพารา ทำประมง โดยมีเรือจับปลาทูน่าที่ทันสมัย จับปลาในน่านน้ำแถบมหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันมีต่างชาติมาดำเนินการขออนุญาตทำงานในภูเก็ตจำนวนมาก ประกอบกับเป็นยุคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูเก็ต นักท่องเที่ยวที่ให้ความสนใจภูเก็ตมากตามลำดับ คือ ออสเตรเลีย เกาหลี เยอรมัน อังกฤษ สแกนดิเนเวียน ส่วนชาวอินเดียที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทยยังมีไม่มากนัก”
ท่านผู้ว่าฯ กล่าวต่อว่า “เมื่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มาจัดสัมมนาที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโอกาสและศักยภาพของตลาดอินเดีย รวมทั้งใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าไทย-อินเดีย อาเซียน-อินเดีย โดยเชิญผู้ที่มีความรู้ ทั้งผู้ประกอบการที่ไปลงทุนในอินเดีย ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอินเดีย เข้ามาร่วมเสวนาแสดงทัศนะ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดอินเดีย จึงถือว่า การสัมมนาในครั้งนี้เป็นการสัมมนาที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา ที่จะได้มีโอกาสเข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง พร้อมนี้ยังมีโอกาสได้ซักถามปัญหาและร่วมแสดงข้อคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางได้อย่างหลากหลาย เพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะตะลุยเข้าไปในดินแดนภารตะ ขุมทรัพย์การค้าแห่งนี้”
ทางด้านวิทยากรที่มาบรรยายในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอินเดียโดยตรง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เริ่มจากคุณบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเซียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มาฉายภาพให้รู้จักและเข้าใจ ตลาดอินเดีย รวมทั้งโอกาสศักยภาพทางการค้าและการลงทุนในตลาดดังกล่าว ก่อนที่จะเข้าไปลุยภารตะ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่าอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองรองจากจีน คือประชากรกว่า 1,100 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงโดยเฉลี่ย 8.3 % ต่อปี กับการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้อินเดียก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันคือการมองตะวันออกของอินเดีย (Look East)และการมองตะวันตกของไทย (Look West) เพื่อมุ่งหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ในส่วนของการจัดทำ FTA ไทย-อินเดีย ในการเปิดเสรีสินค้าในเบื้องต้นจำนวน 82 รายการ ได้มีการยกเลิกภาษีไปตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ครอบคลุมสินค้าสำคัญหลายรายการอาทิ เงาะ มังคุด ลำไย ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอกาศ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งภายหลังจากลดภาษีสินค้า 82 รายการ ส่งผลให้การค้าระหว่างสองประเทศขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบัน การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าสูงถึง 4,700 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กล่าวต่อว่า “ แม้อินเดียจะเปิดตลาดการค้า เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนจากต่างชาติ แต่ก็ยังมีปัญหา และอุปสรรค ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น อินเดียเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ระบบพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และล่าช้า ระบบโครงสร้างและสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการขนถ่ายสินค้า การขนส่งสินค้าใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้มีการลอกเลียนแบบสินค้าเกิดขึ้นจำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดอุปสรรคและบรรเทาปัญหาลงได้”
ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กล่าวเสริมว่า “ไทย-อินเดียยังมีมูลค่าการค้าระหว่างกันน้อย เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน ท่านต้องมองให้เห็นเป็นโอกาส เพราะอินเดียยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง อยากให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีสินค้ากลุ่ม 82 รายการที่ภาษีเป็นศูนย์ไปแล้ว ประกอบกับการค้าระหว่างไทย-อินเดียที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยควรหันมามองและให้ความสำคัญกับตลาดภารตะ
ด้านคุณประกอบ ปัญจเจริญศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก เล่าถึงโอกาสในการเจาะตลาดอินเดียเมื่อได้มีโอกาสไปทำงานที่อินเดียว่า “อินเดียเป็นประเทศที่มีอำนาจซื้อสูงและเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการสามารถที่จะเจาะตลาดอินเดียได้ในทุกระดับ ประกอบกับภาครัฐก็ให้ความช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงโดยช่วยหักร้างถางพงเข้าไปสู่อินเดีย
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กล่าวต่อว่า “ตลาดอินเดียเป็นตลาดที่ท้าทายและเย้ายวน เพราะถ้าสำเร็จที่นี่ก็สามารถสู้ตลาดที่ไหนในโลกได้ การเตรียมตัวสำหรับจะเข้าถึงตลาดอินเดียก็ต้องใจสู้ พร้อมลุย มีความจริงใจ จริงจัง เมื่อจะเข้าไปตลาดอินเดียก็ควรเข้าไปศึกษาข้อมูลไปดูตลาดก่อน รวมทั้งการไปขอคำแนะนำจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือไปร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออกเพื่อออกงานแสดงสินค้าหรือการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงอาจจะไปหาผู้นำเข้าที่เป็นพันธมิตรคู่ค้าในอินเดียด้วย ทางด้านสินค้าก็ต้องมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการรักษาคุณภาพสินค้า
ด้าน ดร.อนุสรณ์ มุทราอิศ ประธานสภาธุรกิจไทย-อินเดีย และกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน ) กล่าวถึงประสบการณ์ในการทำตลาดในอินเดียว่า “เดลต้าเข้าไปอินเดียในปี 2003 ประสบปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง จึงเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะเปิดกว้างในตลาดอินเดีย โดยนำปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้ามาเป็นตัวตั้ง ในการลงทุนสร้างโรงงานหลายแห่งเพื่อผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องสำรองไฟ คอมพิวเตอร์ หรือ UPS ขณะนี้บริษัทเดลต้าเป็นอันดับที่ 97 ของอินเดีย สร้างรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 40 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 และมีนโยบายลงทุนสร้างโรงงานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกำลังจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ขนาด 2,000 คนทางตอนเหนือของอินเดีย จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ให้เปิดโรงงานเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และการพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมทั้งคุณภาพสินค้าด้วย
ด้านคุณพิชยา สายแสงจันทร์ หัวหน้างานพัฒนาและส่งเสริมการตลาดอาเซียน เอเชียใต้ และแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวว่า “นานาประเทศสนใจตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียกันมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวขาออกเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเป็น 8 ล้านคน ภายใน 5 ปี โดยมาเที่ยวเมืองไทยมากเป็นอันดับ 5 ของอินเดีย ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมาไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2550 ที่ผ่านมา เข้ามาจำนวน 536,356 คน ส่วนใหญ่มาเที่ยวถึง 73.58 % และเข้ามาทำธุรกิจ 13.37% และปีหน้า ททท. ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่ม คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 622,172 คน โดยส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวในกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ เป็นต้น นักท่องเที่ยวมาเยอะช่วงปิดเทอม ระหว่างเดือน เม.ย. - ก.ค. เทศกาลปีใหม่ ต.ค.— พ.ย. มาแต่งงาน หรือฮันนีมูน เดือน พ.ย.-ม.ค. และคริสต์มาส เดือน ธ.ค.- ม.ค. เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่คนอินเดียชอบมากที่สุด คือ Theme Park อาทิ สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ สยามนิรมิต ภูเก็ตแฟนตาซี และชอบช็อปปิ้ง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายวันละ 4,700-5,000 บาท มากกว่านักท่องเที่ยวจีน ส่วนธุรกิจไทยที่คนอินเดียสนใจ และมีโอกาสเติบโตสูง ประกอบด้วย ธุรกิจ Medical ด้านการแพทย์ และดูแลสุขภาพ ไทยถือเป็นตลาดอันดับ 1 ในสายตาเอเชียใต้ ที่มีคุณภาพสูง การบริการดี แต่ราคาไม่แพง นอกจากนี้ก็มีธุรกิจที่น่าสนใจคือการจัดงานแต่งงาน ฮันนีมูน การถ่ายภาพยนตร์ การจัดประชุม และสัมมนา
คุณพิชยากล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจัยบวกในการส่งเสริมด้านท่องเที่ยวสำหรับอินเดีย คือ ความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของอินเดียทำให้เกิดนักท่องเที่ยวอินเดียมากขึ้น ความสะดวกในการขอวีซ่า ความรู้สึกว่ามาเมืองไทยแล้วคุ้มค่า เนื่องจากค่าเงินใกล้เคียงกัน นอกจากนี้เมืองไทยยังเป็นเมืองพุทธ มีวัฒนธรรมบางอย่างที่ใกล้เคียงกับอินเดีย รวมถึงความหลากหลายในเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น รวมถึงการทำการตลาดแนวรุกของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละปี ททท. เข้าทำการตลาดในอินเดีย ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง”
คุณบุณิกา แจ่มใส ผู้อำนวยการส่วนเอเชียใต้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากภาคธุรกิจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย อาทิ บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม , Health & Spa , ภัตตาคารและการให้บริการทาง Internet สินค้า OTOP , และประมง เป็นต้น มาร่วมงานและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กรมจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะมีการจัดสัมมนาในภาคอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและชี้ให้เห็นช่องทาง โอกาสการขยายการค้าและการทำธุรกิจในอินเดีย โดยกำหนดการสัมมนาครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคมจัดที่จังหวัดขอนแก่น, เดือนกรกฎาคม จัดที่จังหวัดจันทบุรี และครั้งสุดท้ายเดือนสิงหาคมจัดที่กรุงเทพฯ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมฝ่ายประชาสัมพันธ์งานสัมมนาฯ
ปิยะนันท์ โทร. 02-704-7958 ต่อ 201 - 205 และ081-714-6700
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
ฃ-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ