?สินิตย์? เปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2022 ปีที่ 4 เตรียมจัด Boot Camp ติวเข้มผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร 20 ราย ทั้งการใช้ประโยชน์จาก FTA บุกตลาดแดนมังกร การจัดทำแผนธุรกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เทคนิคทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ก่อนคัดเลือก 10 รายจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจีนในรูปแบบออนไลน์ มั่นใจ! ช่วยผู้ประกอบการไทยเพิ่มแต้มต่อขยายส่งออกตลาดต่างประเทศ
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ DTN Business Plan Award 2022 ?ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA? เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่า ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเร่งติวเข้มให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยขยายตลาดส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะอาเซียน ? จีน และความตกลง RCEP ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ มุ่งส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยเพิ่มแต้มต่อและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้สามารถขยายการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นายสินิตย์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปีนี้ มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ กว่า 123 ราย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ราย ซึ่งมีคุณสมบัติและมีศักยภาพพร้อมที่จะขยายตลาดส่งออกได้ อาทิ ผลไม้ฟรีซดราย น้ำผลไม้ขนมอบกรอบ ทองม้วน ขนมพริกงากรอบ ข้าวเกรียบกุ้ง ซีเรียลธัญพืชอบกรอบ โกโก้ ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชและสัตว์ หนังไก่ทอดกรอบ และเครื่องปรุงรส นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Boot Camp ติวเข้มเจาะลึกทุกกลยุทธ์การทำธุรกิจ การใช้ประโยชน์จาก FTA การจัดทำแผนธุรกิจบุกตลาดจีน ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และเทคนิคการทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ จากนั้นจะจัดประกวดการนำเสนอแผนธุรกิจยอดเยี่ยม เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการ 10 รายสุดท้าย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจีนในรูปแบบออนไลน์ต่อไป
นายสินิตย์ เพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการในปีนี้ มีเป้าหมายบุกตลาดจีน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ได้ลดและยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรส่วนใหญ่ให้กับสินค้าอาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูปของไทยแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 94.78% ของรายการสินค้าทั้งหมด ครอบคลุมสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ปลา ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พืชผักที่บริโภคได้ และผลไม้และลูกนัต สำหรับความตกลง RCEP จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรเพิ่มเติม โดยครอบคลุมสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายรายการ อาทิ น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และพริกไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีแต้มต่อทางการค้า และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือน (ม.ค. ? ต.ค. 2565) ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสู่ตลาดจีน มูลค่า 14,008.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ ยางและของที่ทำด้วยยาง พืชผักรวมทั้งรากและหัวบางชนิดที่บริโภคได้ ไม้และของทำด้วยไม้ ถ่านไม้ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โม่สีเมล็ดธัญพืช มอลต์ สตาร์ชอินูลิน และกลูเตนจากข้าวสาลี
15 ธันวาคม 2565
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ