‘สินิตย์’ นำทีมพาณิชย์ จับมือกรมประมง เสริมแกร่งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ หนุนใช้ FTA ส่งออกสินค้าพรีเมี่ยมเจาะตลาดต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2022 14:29 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?สินิตย์? นำทีมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือกรมประมงลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี พบปะกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง ที่ผลิตสินค้าพรีเมี่ยมเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เตรียมเร่งเครื่องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เกษตรกร ทั้งการผลิตและทำตลาด ตามนโยบาย ?เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด? พร้อมหนุนใช้ FTA ขยายการส่งออก

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ จากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมด้วยกรมประมง ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมทางการค้าสำหรับสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ไปตลาดการค้าเสรี โดยสินค้ากุ้งของสหกรณ์เป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล และมีความพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในการส่งออกไปตลาดการค้าเสรี ซึ่งเน้นเจาะตลาดผู้บริโภคที่ใส่ใจสินค้าเพื่อสุขภาพ ปลอดภัย และรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายสินิตย์ กล่าวว่า การหารือกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ทำให้เห็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในด้านการพัฒนาสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง การแช่เย็นแช่แข็งเพื่อคงคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษา กระบวนการแปรรูปเพื่อการบริโภคภายในประเทศและเพื่อส่งออกเป็นอาหารพร้อมทานให้มีมูลค่าสูง ซึ่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งนี้ ได้อาศัยความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเข้มแข็ง เช่น โรคตายด่วนที่ระบาดในกุ้ง และพัฒนาคุณภาพกุ้ง จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการส่งออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ด้านนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ให้ข้อมูลว่า ?ปัญหาของสินค้ากุ้ง คือต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะอาหารกุ้ง มีต้นทุน 60% ไฟฟ้า 20% แรงงาน 10% ทำให้มีกำไรในการเลี้ยงกุ้งเพียง 10% จึงมีผู้เลี้ยงกุ้งลดลง อีกทั้งกุ้งไทยราคาสูงและไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยกรมประมงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและผู้ประกอบการ ซึ่งกรมประมงได้สนับสนุนเรื่องการจัดหาพันธุ์กุ้งที่หลากหลายและพันธุ์กุ้งที่แข็งแรงให้กับเกษตรกร และโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ โดยจะสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ และแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย 400,000 ตัน สำหรับสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองหลวงของการเลี้ยงกุ้ง มีผลผลิต 50,000-80,000 ตันต่อปี มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งการที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มาจัดเวทีหารือกับเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้ากุ้ง ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อมูลเรื่องสถานการณ์การผลิตและการค้าของสินค้าเป้าหมาย และการใช้ FTA เป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลก?

?กระทรวงพาณิชย์พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเกษตรกรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ การวิจัยและการพัฒนาทั้งการผลิตและการทำตลาด ตามนโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด รวมทั้งให้ความรู้เรื่องการส่งออกและการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยได้จัดทำ 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และนิวซีแลนด์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศให้กับสินค้ากุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี? นายสินิตย์เสริม

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2565) ไทยส่งออกกุ้งไปตลาดโลก มูลค่า 1,287.5. ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกกุ้งแปรรูปไปตลาดโลก มูลค่า 620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 29.4) ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 26.8) จีน (สัดส่วนร้อยละ 17.1) เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 5.5) และไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 4.8) โดยไทยเป็นผู้ส่งออกกุ้งและกุ้งแปรรูปเป็นอันดับที่ 7 ของโลก รองจากอินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม แคนาดา อินโดนีเซีย และจีน ปัจจุบันประเทศคู่ FTA (อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง ชิลี เปรู) ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้ากุ้งและกุ้งแปรรูปจากไทยทุกรายการแล้ว

24 ธันวาคม 2565

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ