?สินิตย์? เผยผลการใช้ประโยชน์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ของไทย หลังมีผลใช้บังคับครบ 1 ปี พบ การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขยายตัวกว่า 7% สินค้าเด่นที่ใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกสูง อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น และทุเรียนสด ยิ้ม! 3 ประเทศตัวตึง เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น ไทยใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกมากสุด!
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามการใช้ประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย ภายหลังมีผลใช้บังคับครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยความตกลง RCEP ช่วยให้การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ประกอบด้วย อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ขยายตัว 7.11% จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าการค้ารวม 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (10 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น
นายสินิตย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยรายการสินค้าที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูง เช่น น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด น้ำมันรำข้าว ผงสิ่งทอ และปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น ขณะที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP นำเข้าสินค้าจาก จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มากตามลำดับ โดยสินค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าสูง เช่น ด้ายใยยาวสังเคราะห์ ไม้อัดพลายวูด ส่วนประกอบเครื่องยนต์ โพลิเมอร์ ของเอทิลีน ในลักษณะขั้นปฐม และองุ่นสดหรือแห้ง เป็นต้น
?ความตกลง RCEP ได้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มเติมจากความตกลง FTA ที่ไทยมีกับประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น FTA แบบสองฝ่าย หรือ FTA ในกรอบอาเซียน ซึ่งนอกจากประโยชน์จากการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมแล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้ประโยชน์จากเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ RCEP กับการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ เป็นช่องทางที่ช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากรมีความรวดเร็วขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง สำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย และไม่เกิน 2 วัน สำหรับสินค้าปกติ? นายสินิตย์เสริม
17 มกราคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ