‘RCEP’ ถกเข้ม เร่งติดตามการดำเนินงาน หนุนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 1, 2023 13:10 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 เร่งติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลง RCEP ทั้งการปรับโอนพิกัดศุลกากร การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน การจัดสรรงบประมาณ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้ เดินหน้าหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผ่านแผนงาน มุ่งเน้นทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 ณ เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อเร่งปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ซึ่งคาดว่าสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงในปีนี้

นางสาวโชติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลง RCEP อาทิ การปรับโอนพิกัดศุลกากรในความตกลงให้เป็น HS 2022 สอดคล้องกับการปรับปรุงพิกัดศุลกากรโลก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ได้สะดวกมากขึ้น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน RCEP ภายใต้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการร่วม RCEP ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การเติบโตอย่างยั่งยืน และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เริ่มการหารือโดยเร็ว เพื่อเป็นเวทีประสานการดำเนินการตามพันธกรณี อาทิ การปรับโอนพิกัดศุลกากรของรายการสินค้าในรายการที่มีกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน การได้ประโยชน์จากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ การตรวจปล่อยสินค้าเน่าเสียง่ายภายใน 6 ชั่วโมง ทั้งด้านนโยบาย เทคนิค และการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ผ่านแผนงานที่มุ่งเน้นการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะจีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้เสนอเงินสนับสนุนโครงการความร่วมมือฯ วงเงินรวมกว่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้ได้เสนอแผนงานโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP ระหว่างประเทศสมาชิก โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อย เร่งหารือเพื่อสรุปร่างแผนงานโครงการความร่วมมือฯ ให้คณะกรรมการร่วม RCEP พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการภายใน ก่อนยื่นสัตยาบันสารต่อเลขาธิการอาเซียนต่อไป ซึ่งคาดว่า ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับครบทั้ง 15 ประเทศ ในปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นทางเลือกและเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้อย่างเต็มที่

สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค. ? พ.ย. 2565) มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อส่งออกไปตลาด RCEP มูลค่า 919.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ

27 กุมภาพันธ์ 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ