กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ผลักดันผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อทางการค้า ขยายส่งออกสู่จีนและฮ่องกง ชี้! จะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้า และเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ ภายใต้โครงการ DTN Business Plan Award 2022 ?ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA? เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ว่า โครงการนี้กรมได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย 10 ราย ซึ่งชนะการประกวด DTN Business Plan Award 2022 ให้ได้เข้าร่วมการจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าจากจีนและฮ่องกง เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจีนและฮ่องกงได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งออกจากไทย โดยผู้ผลิตสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐาน อาทิ ผลไม้ฟรีซดราย บราวนี่อบกรอบ ถั่วปรุงรส ข้าวเกรียบกุ้ง โกโก้ และเครื่องปรุงรส เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าจีน 17 ราย จากคุนหมิง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซี่ยเหมิน ชิงต่าว เฉิงตู และฮ่องกง เป็นต้น รวมทั้งหมด 43 คู่ นอกจากนี้ กรมยังได้รับความร่วมมือและความสนใจจากห้างโมเดิร์นเทรด แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ Tops Lotus Tmall Global บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมการค้าไทย-เจ้อเจียง และบริษัท เลิศ โกลบอล กรุ๊ป จำกัด เข้าร่วมชมสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสร้างโอกาสทางการค้า สร้างพันธมิตร และเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
นางอรมน เพิ่มเติมว่า โครงการ DTN Business Plan Award 2022 ?ชี้ช่องโอกาส บุกตลาดด้วย FTA? เป็นโครงการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีความรู้เรื่อง FTA การค้าระหว่างประเทศ การทำตลาด และการจัดทำแผนธุรกิจ และสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นข้อได้เปรียบทางการค้าและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และไทยมี FTA อาเซียน-จีน ด้วย โดยจีนได้ลดและยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรส่วนใหญ่ให้กับสินค้าอาหาร เกษตร และเกษตรแปรรูปจากไทยแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 94.78% ของรายการสินค้าทั้งหมด ครอบคลุมสินค้าเกษตร อาทิ เนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ที่บริโภคได้ ปลา ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พืชผักที่บริโภคได้ และผลไม้และลูกนัต นอกจากนี้ ไทยและจีนยังเป็นสมาชิกความตกลง RCEP ซึ่งจีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าศุลกากรเพิ่มเติมให้กับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายรายการ อาทิ น้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด สับปะรดปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง และพริกไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีแต้มต่อทางการค้า และมีความได้เปรียบทางการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปตลาดโลก มูลค่า 22,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+17.81%) มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 7.93% ของการส่งออกทั้งหมด ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และกัมพูชา สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปไปตลาดจีน มีมูลค่า 1,431.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัว 17.28% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์เลี้ยง
23 มีนาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ