กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย การส่งออกสินค้าไอศกรีมของไทยเติบโตต่อเนื่อง ครองแชมป์ ผู้ส่งออกไอศกรีมในอาเซียน และอันดับ 4 ของโลก ในช่วง 2 เดือนแรก ส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวพุ่ง 23% สัดส่วนถึง 88% แนะผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค คิดค้นรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมใช้ FTA ขยายส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ไอศกรีมเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไอศกรีมของไทยมีอัตราการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ไทยครองแชมป์ผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับที่ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร) ในปี 2565 ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลก มูลค่ารวม 138 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 30%
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค. ? ก.พ. 2566) การส่งออกไอศกรีมของไทยยังคงเติบโตซึ่งส่งออกสู่ตลาดโลก มูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23% มีสัดส่วนถึง 88% ของการส่งออกสินค้าไอศกรีมทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญและขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน +13% (อาทิ เวียดนาม +58% กัมพูชา +18% ฟิลิปปินส์ +105%) เกาหลีใต้ (+140%) ออสเตรเลีย (+225%) และอินเดีย (+90%) ซึ่งไอศกรีมเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งในปี 2565 มีสัดส่วนการขอใช้สิทธิสูงกว่า 90% ของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน 17 ประเทศ คู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ ทุกรายการที่ส่งออกจากไทยแล้ว เหลือเพียง ญี่ปุ่น ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ 21-29.8%
?ในระยะยาวอุตสาหกรรมไอศกรีมของไทย คาดว่า จะมีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตได้ดี เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลาย อาทิ ผลไม้นานาชนิด และน้ำนมโคคุณภาพ ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประกอบกับข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA ที่สร้างแต้มต่อให้สินค้าไทย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้า รวมทั้งคิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ มะพร้าว มะม่วง ทุเรียน ไอศกรีมจากนมถั่วเหลือง ไอศกรีมไขมันต่ำและน้ำตาลน้อย และที่มีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ไอศกรีมของไทยเป็นที่รู้จักและครองใจผู้บริโภค รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสขยายส่งออกสินค้าไอศกรีมสู่ตลาดโลก? นางอรมน เสริม
7 เมษายน 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ