กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมนำทัพผู้แทนไทยเดินหน้าเจรจา FTA ไทย ? ยูเออี รอบแรก 16 ? 18 พ.ค.นี้ ที่ดูไบ หลังประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ คณะกรรมการเจรจาการค้าและคณะทำงานกลุ่มย่อย 9 คณะ จะร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและวางแผนงานการเจรจาแต่ละรอบ พร้อมเริ่มหารือข้อบทความตกลงทันที ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมมีกำหนดจะนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมเจรจาจัดทำ CEPA ไทย ? ยูเออี ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 ? 18 พฤษภาคม 2566 ณ เมืองดูไบ หลังจากที่ไทยได้ประกาศเปิดการเจรจา FTA หรือที่เรียกว่า CEPA กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยไทยและยูเออีตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะสรุปผลการเจรจา CEPA ไทย ? ยูเออี ให้ได้โดยเร็วที่สุด
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมเจรจาจัดทำ CEPA ไทย ? ยูเออี ครั้งที่ 1 สองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและวางแผนงานสำหรับการเจรจาในแต่ละรอบ รวมทั้งจะเริ่มหารือข้อบทความตกลง โดยในการเจรจารอบแรกจะมีทั้งการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee) เพื่อกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อย จำนวน 9 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และ MSMEs 6) กฎหมายและสถาบัน 7) ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 8) ทรัพย์สินทางปัญญา และ 9) การค้าบริการ และการค้าดิจิทัล
ทั้งนี้ ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออี มีมูลค่า 20,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 73.9 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 3,420.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 17,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากยูเออี เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น สำหรับในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. ? มี.ค. 2566) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 4,697.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 6.6 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 856.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้ามูลค่า 3,840.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
15 พฤษภาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ