ที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 42 รับรองโรดแมปการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ตามแผนงาน 3 ด้าน การเมืองและความมั่นคง-เศรษฐกิจ-สังคมและวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ ติมอร์ฯ จะต้องเข้าร่วมความตกลง 66 ฉบับ ก่อนเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ มั่นใจ! อาเซียนจะเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ขึ้น ส่วนไทยจะได้ประโยชน์ทั้งการลดและยกเลิกภาษี การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน-ท่องเที่ยว แนะเตรียมใช้โอกาสเจาะตลาดติมอร์ฯ อย่างเต็มที่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต ซึ่งอยู่ในสถานะสมาชิกสังเกตการณ์ของอาเซียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 42 ได้รับรองแผนการดำเนินงานสำหรับติมอร์-เลสเต หรือ Roadmap ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย แผนงาน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยในด้านเศรษฐกิจกำหนดให้ติมอร์ฯ จะต้องเข้าร่วมความตกลงที่สำคัญ 66 ฉบับ อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ควาตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) และความตกลงว่าด้วยการลงทุนของอาเซียน (ACIA) จึงจะได้รับสถานะสมาชิกโดยสมบูรณ์ และจะต้องทยอยเข้าร่วมความตกลงอื่นๆ ภายใน 2 ปี อาทิ ข้อตกลงด้านมาตรฐานและการยอมรับร่วมในสาขาต่างๆ รวมทั้งเจรจาเพื่อเข้าร่วมความตกลง FTA ของอาเซียนกับคู่เจรจา ภายใน 5 ปี หลังจากเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์แล้ว
นางอรมน กล่าวว่า หากติมอร์-เลสเต เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ จะทำให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ขึ้น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคจะขยายวงกว้างมากขึ้น และขนาดตลาดอาเซียนจะเพิ่มขึ้นถึง 673.8 ล้านคน สำหรับการค้าไทยจะได้ประโยชน์ด้านการลดและยกเลิกภาษี ซึ่งติมอร์ฯ แม้จะเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก แต่เป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยหลายรายการ อาทิ ข้าว สินค้าเกษตรแปรรูปในกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องดื่ม
สำหรับด้านการลงทุน ติมอร์-เลสเต มีความต้องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างถนน และธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ภายใต้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Growing Tourism to 2030) โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 200,000 คนต่อปี ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นโอกาสอย่างมาก เนื่องจากสาขาดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมากที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม นอกเหนือจากการลงทุนที่มีอยู่แล้วในสาขาบริการ อาทิ ร้านอาหาร บริการสปา นวดแผนไทย และร้านขายอะไหล่รถยนต์
?ไทยและติมอร์-เลสเต มีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นเวลากว่า 21 ปี และมีเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งหากติมอร์ฯ เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จะช่วยให้ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมในการศึกษาตลาดของติมอร์ฯ และใช้ประโยชน์จากโอกาสครั้งนี้อย่างเต็มที่? นางอรมน เสริม
ทั้งนี้ ปัจจุบันติมอร์-เลสเต เป็นคู่ค้าอันดับที่ 129 ของไทยในโลก โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับติมอร์ฯ มีมูลค่า 52.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 349.31% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังติมอร์ฯ มูลค่า14.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากติมอร์ฯ มูลค่า 37.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ข้าว ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช กระดาษ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
14 มิถุนายน 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ