‘กรมเจรจาฯ’ ถกภาครัฐ-เอกชน รับมือมาตรการปรับคาร์บอนของอียู

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 12, 2023 14:03 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือภาครัฐ-เอกชน-ผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมรับมือมาตรการปรับคาร์บอน (CBAM) ของอียู ชี้! ควรจัดตั้ง กรอ.สิ่งแวดล้อม เสนอให้รัฐเร่งช่วยเหลือด้านเงินทุน ด้านพาณิชย์เตรียมจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรอง ทั้งการแจ้งข้อมูล การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกำหนดหน่วยงานตรวจรับรองข้อมูล ยื่นคณะกรรมาธิการยุโรป 11 ก.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมการรับมือการใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าพัฒนาการล่าสุดของมาตรการ CBAM ของอียู พร้อมทั้งหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทยในการรับมือมาตรการดังกล่าว ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมเห็นว่า มาตรการ CBAM จะมีผลกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะเหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม จึงเห็นควรให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือ กรอ. สิ่งแวดล้อม เพื่อทำหน้าที่ประสานและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งเสนอให้รัฐเร่งจัดให้มีการช่วยเหลือด้านเงินทุน (green finance) แก่ผู้ประกอบการที่ปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ามาตรการ CBAM สหภาพยุโรปได้เผยแพร่ระเบียบ CBAM (Regulation (EU) 2023/956) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้านั้น ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566 ? 31 ธ.ค. 2568 โดยในช่วง 3 ปีแรก ให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกไตรมาส หลังจากนั้นให้แจ้งข้อมูลย้อนหลังทุกปี นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 อียูจะเริ่มมาตรการบังคับกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องซื้อ ?ใบรับรอง CBAM? ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 อียูได้เผยแพร่ร่างกฎหมายลำดับรอง กำหนดหน้าที่การรายงานข้อมูลและรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องรายงานโดยผู้นำเข้า ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างกฎหมายลำดับรองนี้ จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 11 ก.ค.นี้ (ตามเวลาบรัสเซลส์) ซึ่งที่ประชุมได้หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทยและการยื่นความเห็นของไทยต่อร่างกฎหมายลำดับ โดยในส่วนของกรมจะจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายลำดับรองที่ได้จากการหารือครั้งนี้ ยื่นต่อคณะกรรมาธิการยุโรปผ่านทางเว็บไซต์ โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งข้อมูล และการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคที่มีความยุ่งยาก และจะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย รวมถึงการกำหนดหน่วยงานที่จะสอบทานและตรวจรับรอง (verify/certify) ข้อมูล ทั้งนี้ หากอียูสามารถรับรองให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ของไทย เป็นหน่วยงานสอบทานได้ จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม CBAM ได้กำหนดสิ่งที่ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติ อาทิ 1) จัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยื่นให้แก่หน่วยงานในประเทศสมาชิกอียู ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยระบุปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้า 2) จะต้องส่งมอบใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยดังกล่าว ซึ่งราคาใบรับรองนั้น อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emissions Trading System : EU-ETS) และหากแสดงได้ว่าสินค้าถูกปรับคาร์บอนในประเทศต้นทางแล้ว อาทิ ถูกเก็บภาษีคาร์บอน ผู้นำเข้าก็จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายภายใต้มาตรการ CBAM ได้ และ 3) ผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ในระดับโรงงาน) ของสินค้าที่ตนผลิต โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ จะต้องได้รับการรับรองโดยผู้รับรอง (accredited verifier) ที่แต่งตั้งโดยประเทศสมาชิกอียู

สำหรับมาตรการ CBAM ของอียูเป็นผลจากการดำเนินนโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษของอียู (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2573 และตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเป็น 0 ในปี 2593 ส่งผลให้อียูออกชุดข้อเสนอกฎหมาย 13 ฉบับ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว (Fit for 55 package) และการออกมาตรการ CBAM ถือเป็นหนึ่งในชุดข้อเสนอกฎหมายดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ประกอบการของอียูมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้า เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปขายในอียูต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

10 กรกฎาคม 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ