?อาเซียน? ประชุมจัดทำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล เน้นการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยงในภูมิภาค มุ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เร่งผลักดันกรอบความร่วมมือให้สำเร็จ ตั้งเป้าชงผู้นำอาเซียนเคาะ ก.ย.นี้
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายกีรติ รัชโน) ให้เข้าร่วมการประชุมเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน (The ASEAN Blue Economy Forum) ระดับรัฐมนตรี และระดับปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองเบลีตุง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน (ASEAN Blue Economy Framework) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ (Priority Economic Deliverables: PEDs) ที่อาเซียนจะผลักดันให้สำเร็จ และตั้งเป้าเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรอง ในช่วงเดือนกันยายนนี้
นายเอกฉัตร กล่าวว่า การประชุมระดับรัฐมนตรี อาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากนานาชาติ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OEDC) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) Standford Center for Ocean Solutions และสำนักงานผู้ประสานงานสหรัฐฯ ประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติของแต่ละประเทศ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคทะเล เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างรอบด้านและยั่งยืน โดยเห็นพ้องจะร่วมกันผลักดันกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคให้สำเร็จ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ของภูมิภาคในอนาคต
สำหรับการประชุมระดับปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ได้หารือถึงความเห็นต่อร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่างๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเลและแหล่งน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำประมง และใช้พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยงกันในภูมิภาค ทั้งการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว การเสริมสร้างศักยภาพผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคทะเล และการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่คุณค่า เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ
ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งอุตสาหกรรมประมงไทยจะมีความยั่งยืน และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลมากขึ้น โดยภูมิภาคอาเซียน มีพื้นที่กว่า 66% เป็นมหาสมุทรและทะเล และคิดเป็น 2.5% ของพื้นที่มหาสมุทรโลก ซึ่งสินค้าประมงกว่า 15% ของโลกมาจากอาเซียน และมีจำนวนแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกว่า 625 ล้านคน โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าประมงไปโลก มูลค่า 304,116 ล้านบาท และมีแรงงานในภาคประมงกว่า 2 แสนคน อาทิ ผู้ขึ้นทะเบียนผู้ทำการประมง จำนวน 117,118 คน และแรงงานในเรือประมง จำนวน 88,301 คน
14 กรกฎาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ