‘ไทย-ยูเออี’ ถก FTA รอบ 2 คืบหน้า คาดปิดดีลตามเป้าปลายปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 24, 2023 14:35 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทย ? ยูเออี เจรจาจัดทำ FTA (CEPA) รอบ 2 ที่กรุงเทพฯ คืบหน้ามาก ร่วมยกร่างความตกลงผ่านคณะทำงาน 11 คณะ อาทิ การค้าสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ MSMEs พร้อมวางแผนประชุมรอบ 3 ที่ดูไบ และรอบ 4 ที่กรุงเทพฯ ตั้งเป้าสรุปผลภายในปีนี้ ชี้! หากความตกลงสำเร็จ GDP ของไทยจะเพิ่มขึ้น ส่งออกขยายตัว คาดจะส่งออกสินค้าอาหาร สิ่งทอ ไม้ ยาง และพลาสติก ได้มากขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) ไทย ? สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 ? 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ โดยการหารือในรอบนี้ ไทยและยูเออีได้ร่วมกันยกร่างความตกลงผ่านการประชุมคณะทำงาน 11 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3) มาตรการเยียวยาทางการค้า 4) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ MSMEs 5) กฎหมายและสถาบัน 6) ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 7) ทรัพย์สินทางปัญญา 8) การค้าบริการ รวมถึงการค้าดิจิทัล 9) การลงทุน 10) มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และ 11) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งการหารือมีความคืบหน้ามาก คาดจะสามารถสรุปผลเจรจาภายในปี 2566 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

นางอรมน กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการเจรจา ซึ่งตนเป็นประธานร่วมกับนาย Juma Mohammed Al Kait ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจยูเออี หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายยูเออี ยังได้ร่วมกันวางแผนการประชุมรอบต่อไป โดยยูเออีจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรอบที่ 3 ปลายเดือน ส.ค. 2566 ณ เมืองดูไบ และไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรอบที่ 4 ปลายเดือน ก.ย. 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าสู่การปิดรอบภายในปีนี้ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้หารือไว้กับรัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ ยูเออี (ดร.ธานี บินอาเหม็ด อัลเซ ยูดี)

ทั้งนี้ จากการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการจัดทำ CEPA ไทย ? ยูเออี พบว่า จะส่งผลให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้น 318 ? 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,867 ? 12,201 ล้านบาท) การส่งออกของไทยขยายตัว 190 ? 243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,494 - 8,305 ล้านบาท) ขณะที่การนำเข้าของไทยจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการจัดทำ CEPA โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากขึ้น อาทิ อาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง และพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น

ยูเออีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออีมีมูลค่า 20,824.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 73.9% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 3,420.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 17,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น สำหรับในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ค. 2566) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 7,698.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 4.50% โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 1,309.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า มูลค่า 6,388.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

21 กรกฎาคม 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


แท็ก ยูเออี   ดูไบ   GDP   FTA   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ