กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย มูลค่าการค้าไทยกับสมาชิก RCEP 5 เดือนแรก ปี 66 สัดส่วนถึง 55.48% ไทยส่งออกไปตลาด RCEP สัดส่วน 51.73% จีนและญี่ปุ่น ตลาดมาแรง สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ผลไม้สด ไก่สด ข้าว น้ำตาลทราย ไอศกรีม ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตดี ทั้งรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง แนะใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มแต้มต่อขยายส่งออก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP เทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโลก มีสัดส่วนการค้ามากกว่า 50% และประเทศสมาชิก RCEP ถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของไทย ทั้งการนำเข้าและการส่งออก โดยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP คิดเป็นสัดส่วน 55.48% ของการค้ารวมระหว่างไทยกับตลาดโลก และไทยส่งออกไปตลาด RCEP คิดเป็นสัดส่วน 51.73% ของการส่งออกของไทยไปตลาดโลก ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น
นางอรมน กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปไปตลาด RCEP ขยายตัวได้ดี อาทิ น้ำตาลทราย ขยายตัว 25% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 10% ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 23% ไอศกรีม ขยายตัว 24% และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 2% และกลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 24% ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 59% ข้าว ขยายตัว 63% และกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัว 27% ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม แม้ภาพรวมจะหดตัวแต่สินค้าส่งออก 2 อันดับแรก ยังคงขยายตัวได้ดี คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 8% และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 5%
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ที่มีมูลค่าการส่งออก สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด สัดส่วน 71% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมดไปตลาด RCEP มังคุดสด สัดส่วน 8% ของการส่งออกฯ ลำไยสด สัดส่วน 5% ของการส่งออกฯ ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง สัดส่วน 5% ของการส่งออกฯ และมะม่วงสด สัดส่วน 2% ของการส่งออกฯ ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน และมาเลเซีย
ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2566) มีการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP มูลค่า 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 107% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม และออสเตรเลีย มากที่สุด และรายการสินค้าที่ขอใช้สิทธิ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันดิบ ปลากระป๋องและแปรรูป น้ำอัดลม มันสำปะหลัง หัวเทียน รถจักรยานยนต์ และทุเรียนสด
?ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ รวมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีภายใต้ความตกลงฯ ได้ที่ www.dtn.go.th และข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ต่างๆ ได้ที่ www.thailandntr.com ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างพัฒนาระบบ Mobile Application สำหรับค้นหาข้อมูล อาทิ อัตราภาษี และข่าวสารการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วมากขึ้น? นางอรมน เสริม
24 กรกฎาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ