?พาณิชย์? ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลง RCEP ครั้งที่ 4 ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรก หลังสมาชิกให้สัตยาบันครบ 15 ประเทศ เดินหน้าติดตามการบังคับใช้ความตกลง การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน RCEP กระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ เตรียมเสนอรัฐมนตรี RCEP เคาะ ส.ค.นี้ พร้อมเร่งปรับโอนพิกัดศุลกากรให้สอดคล้องกับฉบับปัจจุบัน ช่วยผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ได้ง่ายและสะดวกขึ้น
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของความตกลง RCEP ครั้งแรก นับจากที่ความตกลงมีผลใช้บังคับกับสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศ โดยฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงเป็นประเทศสุดท้าย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลง RCEP โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน RCEP ภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน และการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งกระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ของ RCEP โดยจะนำผลการหารือเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 2 ให้ความเห็นชอบ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เดือน ส.ค.นี้ ณ เมืองเซอมารัง ประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เร่งรัดให้สมาชิก RCEP เร่งปรับโอนพิกัดศุลกากรในตารางการลดภาษีให้เป็น HS 2022 ซึ่งจะสอดคล้องกับพิกัดศุลกากรโลกฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การใช้สิทธิประโยชน์ RCEP สะดวกและง่ายต่อผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งได้พิจารณาผลการดำเนินงานของคณะกรรมการด้านต่างๆ โดยเฉพาะคณะกรรมการซึ่งกำกับดูแลโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ เพื่อให้สมาชิกได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความตกลง RCEP เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 พบว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 3.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 55.5% ของการค้ารวมของไทยกับโลก ขยายตัว 5.19% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปสมาชิก RCEP มูลค่า 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากสมาชิก RCEP มูลค่า 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ไม้อัดพลายวูด ไม้อัดวีเนียร์ ด้ายใยยาวสังเคราะห์ และองุ่นสดหรือแห้ง
8 สิงหาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ