‘อาเซียน’ ถกเข้ม จัดทำวิสัยทัศน์หลังปี 2568 มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับความยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 21, 2023 13:23 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?อาเซียน? ถกเข้มจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี 2568 ทิศทางการดำเนินงานอีก 20 ปีข้างหน้า พร้อมรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม เล็งหาแนวทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เข้มข้น มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อนเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 19-22 ส.ค.นี้

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายกีรติ รัชโน) ให้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อหารือถึงการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน 20 ปี (พ.ศ. 2569-2588) ซึ่งจะเป็นพิมพ์เขียวนำทางการดำเนินงานของอาเซียน ในอีก 20 ปีข้างหน้า หลังจากแผนงานอาเซียนช่วงปี 2559-2568 จะหมดอายุลงในปี 2568 รวมทั้งการจัดทำข้อเสนอแนวทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการทำงานเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอาเซียนในอนาคต เพื่อรวบรวมเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคมนี้

นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน และกำหนดเป้าหมายการรวมกลุ่มในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยเห็นว่าอาเซียนควรมุ่งสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เข้มข้น สนับสนุนการเชื่อมโยงทางด้านกายภาพ มีกฎระเบียบที่ประสานและอำนวยความสะดวกต่อเศรษฐกิจการค้า ลดช่องว่างการพัฒนา และปรับปรุงกลไกการดำเนินงานและการประสานงานระหว่างกันภายใต้เสาเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความท้าทายต่างๆ ในอนาคต อาทิ การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ อาเซียนควรให้ความสำคัญกับเรื่องการค้ากับความยั่งยืน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเตรียมจัดทำกรอบเศรษฐกิจภาคทะเล และยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีแผนจะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ในเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ การจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียน 20 ปีข้างหน้า อาเซียนควรรับฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนจะหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในรูปแบบของการสำรวจความเห็น จัดประชุมระดมสมอง และหารือเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ครอบคลุมภาคส่วนของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งนี้ กรมมีแผนจะจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม ควบคู่ไปกับการดำเนินงานของฝ่ายเลขาธิการอาเซียนอีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 59,141.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 33,601.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 25,540.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

18 สิงหาคม 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ