กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (PA) 22 ส.ค.นี้ เผย! ความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่ม PA ประโยชน์ ผลกระทบ และข้อเสนอแนะในการปรับตัว กูรูและผู้ส่งออกร่วมแชร์ประสบการณ์เจาะตลาดลาตินอเมริกา พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน ผู้สนใจร่วมงานสัมมนาฯ สามารถลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเตรียมจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้อง Salon B โรงแรมสวิสโซเทล รัชดา กรุงเทพฯ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับมอบหมายให้ศึกษาวิจัย และนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA ไทย-กลุ่ม PA ประโยชน์และผลกระทบที่ไทยจะได้รับ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการเตรียมการปรับตัวของไทย
นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ กรมได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาหอการค้าเม็กซิกัน-ไทย สภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และผู้ส่งออกไทย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคลาตินอเมริกา พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงานสัมมนาด้วย
สำหรับกลุ่ม PA ถือเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาคลาตินอเมริกา 4 ประเทศ ได้แก่ ชิลี เปรู โคลัมเบีย และเม็กซิโก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก มี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 36 ของภูมิภาค และมีประชากรกว่า 225 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการผลิต อาทิ ทองแดง ลิเทียม แร่เหล็ก รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และผลิตผลทางการเกษตร จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจสำหรับไทย แม้ที่ผ่านมา ไทยจะได้มีการจัดทำ FTA กับเปรู และชิลี และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ปี 2554 และ 2558 ตามลำดับ แต่การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่ม PA จะเป็นการขยายและต่อยอดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกาได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://rb.gy/jcze8
19 สิงหาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ