?ภูมิธรรม? เปิดกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับคณะนักธุรกิจจาก EU-ABC และ EABC 39 ราย จาก 24 บริษัท หารือการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากยุโรป ผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างกัน ด้านภาคธุรกิจยุโรปพร้อมหนุนให้ FTA ไทย-อียู ได้ข้อสรุปโดยเร็ว หวังช่วยต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) และสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของยุโรปที่ประกอบธุรกิจในอาเซียนและในไทย จำนวน 39 ราย จาก 24 บริษัท อาทิ แอร์บัส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มิชลิน ฟรีซแลนด์-คัมพีน่า ดีเอชแอล พรูเดนเชียล และโนวาร์ตีส ที่ได้เข้าพบแสดงความยินดีในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมทั้งหารือส่งเสริมการประกอบธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนของบริษัทชั้นนำจากยุโรป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้ชี้แจงถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ของไทย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนนโยบายของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและภาคเอกชนยุโรป นอกจากนี้ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีเป้าหมายสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มศักยภาพการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอียู รวมทั้งแผนทบทวนและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจการลงทุน และรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก ทั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ-เอกชน และเอกชน-เอกชน อีกด้วย
ด้านผู้แทนภาคธุรกิจของยุโรป ได้แสดงความยินดีที่ FTA ไทย-อียู กลับมาเจรจาอีกครั้ง โดยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคเอกชน นอกจากนี้ ได้หยิบยกประเด็นการค้าอื่นๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมราคาสินค้า พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หารือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับทราบนโยบายและข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจและวางแผนการค้าและการลงทุนต่อไป
ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.96% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวม 7.30% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.42% และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.94% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอัญมณี ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเคมีภัณฑ์
2 ธันวาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ