ไทยถกออสเตรเลีย ชวนลงทุน EEC ติดตามการเปิดตลาดภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทั้งการค้าบริการและการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ หนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริม SMEs ปรับตัวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมเตรียมจัดกิจกรรมฉลองความตกลง TAFTA ครบรอบ 20 ปี เผยผลสำเร็จการดำเนินงานที่ผ่านมา
นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) ให้เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการดำเนินการด้านการเข้าสู่ตลาด (Market Access Implementing Committee: MAIC) ครั้งที่ 4 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ร่วมกับนายเอียน มอติเมอร์ รักษาการผู้ช่วยปลัดการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย เพื่อติดตามการเปิดตลาดภายใต้ TAFTA และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
นายรัชวิชญ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยได้เชิญชวนออสเตรเลียลงทุนในไทย โดยเฉพาะเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของออสเตรเลียที่ต้องการมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2583 นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีในด้านต่างๆ ภายใต้ TAFTA ซึ่งมีความคืบหน้าด้วยดี ทั้งการค้าบริการและการลงทุน โดยไทยและออสเตรเลียได้เปิดตลาดสาขาบริการเพิ่มเติม ภายใต้ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และการอำนวยความสะดวกและการตรวจลงตราของผู้เยี่ยมเยือนทางธุรกิจ รวมทั้งการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติวิชาชีพด้านวิศวกร ภูมิสถาปนิก และผู้ตรวจสอบปริมาณงาน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือระหว่างกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นพ้องจะส่งเสริมความร่วมมือที่ช่วยยกระดับและสร้างคุณค่าให้กับ TAFTA โดยเฉพาะการส่งเสริมแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจ การฝึกอบรมและสัมมนาให้ข้อมูลการผลิตและบรรจุภัณฑ์สีเขียว แนวโน้มสินค้าและบริการ BCG ตลาดผู้บริโภคในออสเตรเลีย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเสริมสร้างผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้สามารถปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนสถิตินำเข้าและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ที่ไทยและออสเตรเลียเป็นภาคี เพื่อประเมินผลการดำเนินงานและสนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ TAFTA จะมีผลบังคับใช้ครบรอบ 20 ปี ในปี 2568 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา
ไทยและออสเตรเลียมี FTA ร่วมกัน 3 ฉบับ คือ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งหลังจากที่ TAFTA มีผลบังคับใช้ในปี 2548 การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย ขยายตัวถึง 186% โดยมีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกือบทุกรายการระหว่างกันแล้ว และจะยกเลิกภาษีสินค้าทุกรายการ ภายในปี 2568 ซึ่งถือเป็นความตกลงที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นอันดับต้น ทั้งไทยและออสเตรเลีย
สำหรับในปี 2565 ออสเตรเลียเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 18,315.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.27% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 11,187.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 7,128.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
15 ธันวาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ