กระทรวงพาณิชย์ต้อนรับประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศรัฐสภายุโรปและคณะสมาชิกรัฐสภายุโรปหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ สานต่อสัมพันธ์ทางการค้า และความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ พร้อมผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ได้หารือกับนาย Bernd Lange สมาชิกรัฐสภายุโรปและประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ (Committee on International Trade: INTA) ของรัฐสภายุโรป นาง Heidi Hautala รองประธานรัฐสภายุโรป ผู้แทนจากรัฐสภายุโรปที่เป็นสมาชิก INTA และผู้แทนกลุ่มการเมืองต่างๆ ของสหภาพยุโรป ซึ่งเดินทางเยือนไทย โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย
นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ ความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างและหาทางยอมรับร่วมกันในสังคมความขัดแย้งทางรัฐธรรมนูญฯ ที่จะพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เป็นความท้าทายของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนไทย โดยได้ขอให้คณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศรัฐสภายุโรปให้การสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาและมีผลใช้บังคับได้โดยเร็ว
นอกจากนี้ ยังได้หารือประเด็นการค้าสำคัญอื่นๆ โดยไทยเห็นด้วยกับแนวโน้มและทิศทางของโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการค้าสีเขียวสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำประมงที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน และไทยมีแนวนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ การปฏิบัติตามกฎระเบียบการค้าใหม่ๆ ควรดำเนินบนพื้นฐานของความร่วมมือ คำนึงถึงความแตกต่าง มีความยืดหยุ่น และระยะเวลาการปรับตัวที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งเน้นย้ำกับสมาชิกรัฐสภายุโรปเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ภาคเอกชนไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรการภายใต้นโยบายอียูกรีนดีล อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ได้อย่างราบรื่น
สำหรับรัฐสภายุโรปมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจให้ความเห็นชอบความตกลง FTA ของอียู โดยการเยือนไทยและพบหารือกับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติของไทย แสดงให้เห็นว่า อียูให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความร่วมมือในหลายมิติ โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-อียู เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 35,013.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,206,685.59 ล้านบาท) ขยายตัว 1.96% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการค้ารวม 7.30% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 18,247.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (624,969.91 ล้านบาท) ลดลง 4.42% และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 16,765.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (581,715.68 ล้านบาท) ขยายตัว 9.94% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์
22 ธันวาคม 2566
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ