?ไทย-เอฟตา? เจรจา FTA รอบ 8 คืบหน้าต่อเนื่อง ทั้งการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยของผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ หลายกลุ่มย่อยใกล้สรุปผลได้แล้ว พร้อมหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างร่วมกัน นัดเจรจารอบ 9 ช่วงเดือน เม.ย.นี้ ตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 67 ย้ำ! เป็นหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว ลุยขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) หรือ เอฟตา รอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 30 มกราคม ? 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันการเจรจาให้สามารถสรุปผลภายในปี 2567 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ที่ต้องการเร่งรัดการเจรจา FTA ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นางสาวโชติมา กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) มาตรการเยียวยาทางการค้า 4) การค้าบริการ 5) การลงทุน 6) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 7) ทรัพย์สินทางปัญญา 8) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 9) ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และการระงับข้อพิพาท 10) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ และ 11) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งภาพรวมในการเจรจามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และหลายกลุ่มย่อยใกล้สรุปผลเจรจาได้แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหาข้อสรุปในประเด็นคงค้างร่วมกัน โดยตั้งเป้าสรุปผลให้ได้ภายในปี 2567 ทั้งนี้ กำหนดจะจัดการประชุมเจรจารอบที่ 9 ในช่วงเดือนเมษายนนี้
นอกจากนี้ ผู้แทนฝ่ายไทยจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าร่วมการเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ เอฟตา ประกอบด้วย สมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยในปี 2566 เอฟตาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.72% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้าที่ไทยนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
3 กุมภาพันธ์ 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ