?อาเซียน? เดินหน้าวางร่างแผนพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์สำหรับวิสัยทัศน์เศรษฐกิจฉบับใหม่ ครอบคลุม 20 ปี ปรับปรุงให้ทันรูปแบบการค้าในอนาคต มุ่งเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวอย่างไร้รอยต่อ ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้าสรุปร่างแรกภายใน พ.ค. 67 ก่อนเสนอความคืบหน้าต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มี.ค.นี้ ด้านไทยเตรียมเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบการสัมมนาและแบบสำรวจความคิดเห็น
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High-Level Task Force on ASEAN Economic Integration: HLTF-EI) ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ สปป.ลาว โดยที่ประชุมได้หารือถึงการวางร่างเริ่มต้นแผนพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนฉบับใหม่ที่ครอบคลุมระยะ 20 ปี เพื่อสรุปร่างแรกภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ก่อนเสนอคณะทำงานระดับสูงประชาคมอาเซียนหลังปี 2568 ซึ่งรับผิดชอบการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ในภาพรวม
นายเอกฉัตร กล่าวว่า ที่ประชุมจะรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 ถึงความคืบหน้าและข้อเสนอแนะการจัดทำแผนพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ 20 ปีของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งเป็นรอบการดำเนินการคราวละ 5 ปี เพื่อสามารถปรับปรุงให้ทันต่อรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต และได้มอบหมายให้องค์กรรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจ จัดทำแผนงานและกิจกรรมภายใต้แผนพิมพ์เขียว ให้สอดรับกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ที่มุ่งเน้นเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวอย่างไร้รอยต่อ ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว เสริมสร้างการพัฒนาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และมีบทบาทเชิงรุกในสังคมโลก
นอกจากนี้ การวางวิสัยทัศน์ใหม่ได้เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ในระดับภูมิภาค มีส่วนร่วมเสนอแนะและเสนอความคิดเห็น โดยได้หารือกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งสะท้อนประเด็นสำคัญสำหรับวิสัยทัศน์ใหม่ อาทิ การพัฒนากฎระเบียบให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การผลักดันการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในอาเซียนให้เสรีมากขึ้น การเตรียมรับสังคมสูงวัย การยกระดับชนชั้นกลางให้เป็นผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และการแสวงหาตลาดคู่ค้าใหม่ รวมทั้งการเพิ่มความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับองค์กรภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสาธารณชนมากยิ่งขึ้น
สำหรับในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะจัดการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนฉบับใหม่ ในรูปแบบการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ควบคู่กับการจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น (Survey) เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว ตาม QR Code ที่ปรากฏด้านล่าง หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dtn.go.th
28 กุมภาพันธ์ 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ