นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ ?รุกตลาดเอเชียใต้ ขยายการค้าการลงทุน ด้วย FTA ไทย - ศรีลังกา? เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี เพื่อเผยแพร่เนื้อหาและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย ? ศรีลังกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ FTA ไทย ? ศรีลังกา สามารถเป็นกลไกที่สร้างแต้มต่อและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเอกชนไทย ในการรุกตลาดศรีลังกาและภูมิภาคเอเชียใต้ได้อย่างทันท่วงทีที่ความตกลง FTA ไทย ? ศรีลังกา มีผลบังคับใช้ โดยผลการจัดงานสัมมนาประชาพิจารณ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนเกินเป้าหมายกว่า 150 ราย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยให้มาก
นางสาวโชติมา กล่าวว่า กรมได้เชิญนักเจรจาตัวจริงเสียงจริงมาเข้าร่วมสัมมนาประชาพิจารณ์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ FTA ไทย ? ศรีลังกา ครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยด้านการค้าสินค้าไทยและศรีลังกามีระดับการเปิดตลาดการค้าสินค้าที่เท่าเทียมกัน คือ ร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด สำหรับสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดของศรีลังกา ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ ผัก (พืชตระกูลถั่ว เห็ด เผือก) ผลไม้ (ส้ม พลัม ผลไม้แห้ง) เมล็ดข้าวโพด แป้งข้าวโพด อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ อาหารสัตว์ สินค้าประมง และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อัญมณี เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น โทรทัศน์) ถุงมือยาง และเฟอร์นิเจอร์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะมีแหล่งวัตถุดิบทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดตลาดของไทยในกลุ่มวัตถุดิบจากศรีลังกา อาทิ สิ่งทอ (ด้ายไนลอน ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์) สารเติมแต่งสำหรับน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย
สำหรับการค้าบริการ ศรีลังกาได้เปิดตลาดเพิ่มเติมจากที่ผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถถือหุ้นในกิจการได้ถึงร้อยละ 100 ให้สาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ สาขาบริการคอมพิวเตอร์ บริการวิจัยและพัฒนา บริการโรงแรมและร้านอาหาร บริการด้านการกีฬาและนันทนาการ และบริการขนส่งทางทะเล ในส่วนของด้านการลงทุน ความตกลงจะขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในศรีลังกามากขึ้น โดยเฉพาะสาขาการผลิต จำนวน 35 สาขา อาทิ การแปรรูปอาหาร การผลิตสิ่งทอ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังได้รับการคุ้มครองการลงทุนในศรีลังกาภายใต้ความตกลง FTA ฉบับนี้ด้วย อาทิ กรณีการลงทุนได้รับผลกระทบจากการเวนคืน หรือเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ รวมถึงนักลงทุนสามารถใช้กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐ
ทั้งนี้ กรมได้นำความตกลง FTA ไทย ? ศรีลังกา เผยแพร่ที่เว็บไซต์ www.dtn.go.th และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจที่ต้องการทราบข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อความตกลง FTA ไทย ? ศรีลังกา สามารถติดต่อได้ที่ 0 2507 7595 และ 0 2507 7483
ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 415.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 291.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 124.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับน้ำมันสำเร็จรูป ผ้าผืน ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
7 มีนาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ