นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นสักขีพยานการลงนามจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย ? สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมสั่งลุยเริ่มการเจรจาระหว่างกันโดยเร็ว ตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในปี 2568 หรือต้นปี 2569 ผลักดันเปิดตลาดสินค้าและบริการของไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีมากขึ้น
วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 11.30 น.
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเข้าร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โดยเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) และนายคอนกี โร (Keonki Roh) ตำแหน่ง Deputy Minister for Trade Negotiation ของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน (Ministry of Trade, Industry and Energy: MOTIE) ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการในการเริ่มต้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยใช้ชื่อว่า ?ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย ? สาธารณรัฐเกาหลี? โดยสองฝ่ายคาดว่าจะเริ่มการเจรจารอบแรกภายในกลางปี 2567 และตั้งเป้าเจรจาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 หรือต้นปี 2569
นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำความตกลง EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของไทยให้มากขึ้น โดยการจัดทำเอฟทีเอฉบับนี้ จะเป็นการต่อยอดจากเอฟทีเอที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน?สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) การจัดทำความตกลงดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย อีกทั้งยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างการพัฒนาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีมีความสนใจร่วมกัน อาทิ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิต และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากความตกลง EPA ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และประมง (อาทิ เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป) ผลไม้เมืองร้อน (อาทิ มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ (อาทิ แป้ง ซอสและของปรุงรส) ผลิตภัณฑ์ไม้ (อาทิ ไม้แปรรูป พาติเคิลบอร์ด ไม้อัดพลายวูด) และเคมีภัณฑ์ ขณะที่สาขาบริการที่ไทยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดการค้าบริการของสาธารณรัฐเกาหลี อาทิ บริการด้านธุรกิจ บริการการขนส่ง คลังสินค้า และบริการด้านโรงแรมและภัตตาคาร นอกจากนี้ ตนยังได้รับแจ้งจากฝ่ายเกาหลีว่า ในวันเดียวกันนี้ ทางกระทรวง MOTIE ได้จัดงานประกาศยุทธศาสตร์นโยบายการค้าใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาสำคัญ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่มีศักยภาพของสาธารณรัฐเกาหลี
?เกาหลีลงทุนในบ้านเราหลายหมื่นล้าน อย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าซัมซุง รถยนต์ KIA และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาก็สนใจอยากเปิดตลาดร่วมกับเรา ซึ่งเรายินดีต้อนรับ จะได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเกษตรกรไทยสนใจขยายตลาดไปเกาหลีเพิ่ม เช่น มังคุดและมะม่วง นอกจากนี้เรายังมีแหล่งผลิตอาหารที่เป็นที่ต้องการ เช่น ไก่แช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพยายามทำให้ของเราส่งออกสินค้าให้มากที่สุด จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน? นายภูมิธรรม กล่าว
ในปี 2566 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสาธารณรัฐเกาหลี 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากสาธารณรัฐเกาหลี 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
28 มีนาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ