‘พาณิชย์’ ถก เยอรมนี ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า เน้นเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง BCG อุตสาหกรรมสมัยใหม่ หนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2024 15:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?พาณิชย์? หารือ สส. เยอรมนี เน้นความร่วมมือด้านการค้าในสาขาที่มีประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง BCG อุตสาหกรรมสมัยใหม่ พร้อมแจ้งรัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดัน Soft Power ด้านเยอรมนี หนุนไทยในการเจรจา FTA ไทย-อียู หากสำเร็จจะใช้ไทยเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย ส่วนไทย ย้ำ FTA เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น คาดสินค้าและธุรกิจไทยได้ประโยชน์เพียบ!!

นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ให้ร่วมหารือกับนายกุนเธอร์ คริชบาวม์ (Mr. Gunther Krichbaum MdB) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐสภาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมคณะผู้แทนจากมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องภาพรวมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือและผลักดันการค้าในสาขาที่สองฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรม BCG และอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และธุรกิจทางการแพทย์และสุขภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดัน Soft Power เน้นการส่งออกทางวัฒนธรรมและสินค้าของไทยผ่านธุรกิจอาหาร แฟชั่น เกมส์ และการท่องเที่ยว

นายกฤษฎา กล่าวว่า เยอรมนีสนับสนุนไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู และหากการเจรจา FTA สัมฤทธิ์ผล เยอรมนีจะสามารถใช้ไทยเป็นประตูทางการค้าไปประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย อาทิ อาเซียน และจีน ซึ่งไทยได้เน้นย้ำว่าการเจรจา FTA ดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของไทย โดยไทยมุ่งมั่นที่จะยกระดับสินค้า อุตสาหกรรม และบริการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ FTA เป็นความตกลงสมัยใหม่ที่ตอบรับกับกระแสโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าของไทยประเภทยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว การค้าส่ง และค้าปลีก จะได้รับผลประโยชน์จากการเปิด FTA ไทย-อียู

ทั้งนี้ ในปี 2566 เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป ซึ่งการค้าระหว่างไทย-เยอรมนี มีมูลค่า 10,651.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.85 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยส่งออกไปเยอรมนี มูลค่า 4,472.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเยอรมนี มูลค่า 6,178.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์

29 มีนาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ