กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-เอฟตา รอบ 9 ระหว่างวันที่ 23-26 เม.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ เดินหน้าประชุมระดับหัวหน้าผู้แทน และประชุมกลุ่มย่อย 10 คณะ เร่งเครื่องสรุปผลการเจรจาปีนี้ ให้เป็นไปตามนโยบายสำคัญที่รัฐบาล และ ก.พาณิชย์ ต้องการเร่งรัดให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) หรือ ?เอฟตา? รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 23 ? 26 เมษายน 2567 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเร่งรัดการเจรจาให้สามารถสรุปผลโดยเร็ว ภายในปี 2567 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในลำดับต้นที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต้องการเร่งรัดให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นางสาวโชติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จะแบ่งเป็นการประชุมระดับหัวหน้าผู้แทน และการประชุมกลุ่มย่อย 10 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 3) มาตรการเยียวยาทางการค้า 4) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 5) การค้าบริการ 6) การลงทุน 7) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 8) ทรัพย์สินทางปัญญา 9) ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และการระงับข้อพิพาท และ 10) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ โดยมีผู้แทนฝ่ายไทยจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมการประชุมเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ เอฟตา เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับเอฟตามีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1.72% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
19 เมษายน 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ