‘ไทย-ภูฏาน’ ถก FTA รอบแรก วางแผนงานเจรจา จัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 ส.ค.นี้ เล็งปิดดีลปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 20, 2024 16:17 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก ได้ข้อสรุปจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า 8 ชุด พร้อมจัดทำแผนงานการเจรจา ด้านไทย เตรียมเสนอร่างบทในเรื่องต่างๆ ให้ฝ่ายภูฏานพิจารณา และจะจัดประชุมออนไลน์หารือประเด็นทางเทคนิคระหว่างกัน ก่อนไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รอบ 2 เดือน ส.ค.นี้ เล็งสรุปผลภายในปี 2568

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พาณิชย์ และการจ้างงานภูฏาน (นายนำเยล ดอร์จิ) ได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 5 คณะเจรจาของไทยและภูฏานจึงได้ประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ผ่านมา ณ ประเทศภูฏาน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และนายโซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายภูฏาน

นางสาวโชติมา กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปโครงสร้างของความตกลงสำหรับเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า โดยจะจัดตั้งคณะทำงาน 8 ชุด ประกอบด้วย ด้านการค้าสินค้า ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และด้านกฏหมาย พร้อมทั้งได้ร่วมกันจัดทำแผนงานการเจรจาฯ ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2568 โดยหลังจากนี้ ฝ่ายไทยจะเสนอร่างบทในเรื่องต่างๆ ให้ฝ่ายภูฏานพิจารณา และจะจัดประชุมออนไลน์เพื่อหารือประเด็นทางเทคนิคระหว่างกัน ก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับการหารือระหว่างนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับนายเชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้พิจารณาเร่งรัดสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยผู้บริโภคภูฏานมีความนิยม รวมทั้งยอมรับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

?การจัดทำ FTA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มปริมาณการค้าสองฝ่ายให้บรรลุเป้าหมายถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากภูฏานจะเป็นตลาดรองรับการส่งออกของไทยในระยะยาว รวมทั้งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และได้ก้าวเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อปี 2566 อีกทั้งจะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยจากการลดเลิกภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง) สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า? นางสาวโชติมา เสริม

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 18.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 18.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับภูฏาน มีมูลค่า 3.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏาน มูลค่า 3.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏาน มูลค่า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผ้าผืน และข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ยางสำหรับอากาศยาน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ

20 พฤษภาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ