ไทยเปิดบ้านต้อนรับอาเซียนกับคู่เจรจา เร่งผลักดัน FTA จีน แคนาดา พร้อมปูทางรับสมาชิกเพิ่มเสริมฐานการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2024 13:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน ลุย 4 ประเด็น เร่งยกระดับ FTA กับจีน เตรียมเจรจารอบ 8 กับแคนาดา ปูทางรับติมอร์-เลสเตร่วมเป็นสมาชิกใหม่ และหาทางเสริมกลไกหารือกับเอกชน

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 2/55 และการประชุมร่วมกับคู่เจรจา FTA สำคัญของอาเซียน ในระหว่างวันที่วันที่ 20-23 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันการเจรจาเปิดตลาดและความร่วมมือใหม่ ๆ ให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว วางเกณฑ์รับติมอร์-เลสเตเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัว และปรับปรุงกลไกการหารือกับภาคเอกชนอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้พบ 4 คู่เจรจา FTA ได้แก่ จีน แคนาดา ฮ่องกง และญี่ปุ่น เน้นหารือความร่วมมือและเร่งเจรจา FTA ระหว่างกัน โดยในกรอบอาเซียน-จีน มีความคืบหน้าการยกระดับ FTA ไปแล้ว ร้อยละ 34 โดยเจรจาจบแล้ว 2 เรื่อง คือ ความร่วมมือเศรษฐกิจและวิชาการ กับเรื่อง MSMEs และยังต้องเร่งหาข้อสรุปในเรื่องที่เหลือ เช่น การลดภาษีสินค้าเพิ่มเติม สำหรับ FTA กับแคนาดา จะเปิดเจรจารอบที่ 8 ที่ประเทศไทย ในวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567 นอกจากนี้ อาเซียนได้เร่งรัดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการให้ FTA อาเซียน-ฮ่องกง ฉบับปรับปรุง มีผลใช้บังคับเพื่อให้ภาคเอกชนได้ประโยชน์โดยเร็ว ส่วนในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายจะเร่งจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัลและแผนแม่บทยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไป

นอกจากนี้ อาเซียนได้ทราบความคืบหน้าความพร้อมของติมอร์-เลสเตเพื่อเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งติมอร์ฯ ได้ผ่านเกณฑ์ระยะแรกเรื่องความเข้าใจการทำงานของเสาเศรษฐกิจแล้ว และต่อไปจะเริ่มทยอยเข้าร่วมการเจรจาความตกลงด้านเศรษฐกิจสำคัญในกลุ่มแรก 66 ฉบับ เช่น การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยขณะนี้ ติมอร์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอที่จะขอเจรจาความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนมาแล้ว ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของติมอร์ฯ ไม่เพียงแสดงถึงการเติบโตของการรวมกลุ่มของภูมิภาค แต่ยังจะช่วยเสริมการขยายตัวของห่วงโซ่อุปทานการเป็นฐานการผลิตของอาเซียนให้กว้างขึ้น ถือเป็นโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านการส่งออกสินค้าเกษตร รถยนต์และส่วนประกอบ บริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และป่าไม้ด้วย

นายธัชชญาน์พล เสริมด้วยว่า อาเซียนให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการ MSMEs ซึ่งถือเป็นฟันเพืองหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยได้ประเมินประสิทธิภาพความร่วมมือรัฐ-เอกชนของอาเซียน ในปัจจุบัน และได้เร่งหาแนวทางปรับปรุงกลไกความร่วมมือกับภาคเอกชนอาเซียนให้มีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจยิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนให้ฝ่ายเลขาของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนสามารถดำเนินงานในประเด็นสำคัญได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยภาคเอกชนสานต่อโครงการเสริมขีดความสามารถให้ MSMEs ตลอดจนการพัฒนาด้านทักษะดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียวของภูมิภาค

23 พฤษภาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ