?อาเซียน-แคนาดา? ลุยเจรจา FTA รอบ 8 ที่กรุงเทพฯ คืบหน้าต่อเนื่อง เร่งรัดการเจรจาคณะทำงานกลุ่มต่างๆ ผลักดันประเด็นคงค้างสำคัญ ทั้งการเปิดตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมวางแผนเจรจาที่เหลืออีก 8 รอบ เร่งรัดแผนงานเจรจาของ 19 คณะทำงาน ตั้งเป้าปิดดีลภายในปี 68 ชี้! ถือเป็น FTA ฉบับแรกในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าการลงทุน และพัฒนาศักยภาพของไทย
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์) เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานเจรจากลุ่มต่างๆ เพื่อเร่งสรุปผลภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาตั้งเป้าไว้
นางสาวโชติมา กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยได้เร่งรัดการเจรจาของคณะทำงานและผลักดันประเด็นคงค้างสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้า การรับรองเอกสารเกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และโครงสร้างและขอบเขตการบังคับใช้บทการค้าบริการและการลงทุน รวมทั้งให้เร่งการเจรจาประเด็นการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รวมเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้าที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับบทอื่นๆ ใน FTA ฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันกิจกรรมช่วยเหลือทางเทคนิคให้แก่อาเซียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจรจา ซึ่งล่าสุด ได้ให้ความช่วยเหลือในการจัดทำข้อมูลการค้าและการปรับโอนพิกัดภาษีศุลกากรเป็น HS2022 ทำให้ประเทศ CLMV สามารถส่งข้อมูลได้ตามกำหนดเวลา
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแผนเจรจาที่เหลืออีก 8 รอบ และเร่งผลักดันแผนงานเจรจาของทั้ง 19 คณะทำงาน เพื่อให้สามารถสรุปผลภายในปี 2568 โดย FTA ฉบับนี้ ถือเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะแคนาดาที่เป็นตลาดศักยภาพ กำลังซื้อสูง มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย แรงงานมีทักษะ และมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยต่อยอดขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุน และพัฒนาศักยภาพของไทย
สำหรับในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2567) การค้าระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มีมูลค่า 6,930.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.14 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยแคนาดาส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 1,450.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.33 และแคนาดานำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 5,480.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.48 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และเครื่องแต่งกายและของที่ใช้ประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ธัญพืช เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และปุ๋ย
ทั้งนี้ แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย โดยในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับแคนาดา มีมูลค่า 769.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.95 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 512.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 257.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช แผงวงจรไฟฟ้า และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ
30 พฤษภาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ