‘พาณิชย์’ ถกเยอรมัน กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หนุนเจรจา FTA ไทย-EU ฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วม JEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2024 13:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือเยอรมนี กระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน แลกเปลี่ยนความเห็นด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน เน้นความสำคัญระบบการค้าพหุภาคี หนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู นัดถกรอบ 3 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี (JEC) ครั้งที่ 4 ภายในปี 67 ลุยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมชย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล) ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมหารือกับนายโทเบียส เพียร์ลิ่ง (Mr. Tobias Pierlings) ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงเศรษฐกิจ และการปฏิบัติการทางภูมิภาค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมคณะเดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ณ กระทรวงพาณิชย์ โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องภาพรวมด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุน ความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว

นายรัชวิชญ์ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งอียูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 17-21 มิถุนายนนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้สนับสนุนการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี (Thai-German Joint Economic Committee: JEC) ครั้งที่ 4 ภายในปี 2567 หลังจากที่ได้จัดประชุมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 ซึ่งจะเปิดโอกาสในการหารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2566 เยอรมนีถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป การค้าระหว่างไทยกับเยอรมนี มีมูลค่า 10,651.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.85 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยส่งออกไปเยอรมนี มูลค่า 4,472.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเยอรมนี มูลค่า 6,178.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์

17 มิถุนายน 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ