ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นำทีมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้ข้อมูลกับ OECD ประเด็นนโยบายการแข่งขันทางการค้าของไทยภายใต้การกำกับดูแลของ ก.พาณิชย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบรรยากาศที่มีความโปร่งใส และแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ให้ร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันทางการค้า (นาย Marcelo Guimaraes) จากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ประเด็นหลักเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันทางการค้าของไทย คือ 1) ทิศทางนโยบายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทย 2) ความสำคัญของการแข่งขันทางการค้าในการเจรจา FTA 3) มาตรการกำหนดราคาต่อการแข่งขันทางการค้า และ 4) โครงการริเริ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของไทย โดยมีรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (DTN) รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (DIT) รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) และกรรมการการแข่งขันทางการค้า (TCCT) ร่วมให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ OECD จัดทำรายงานการทบทวน (Peer Review) กฎหมายและนโยบายการแข่งขันของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลประกอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย
นายวุฒิไกร กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ ได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขข้อจำกัดหรือปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ล้าสมัย เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะประเด็นกฎหมายด้านการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าเสรี ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ และสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาทิ อาเซียน-แคนาดา อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไทย-อียู และไทย-เอฟตา ได้กำหนดให้ประเด็นการแข่งขันทางการค้าเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการเจรจา ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้การค้าและการลงทุนมีการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีโครงการ ASEAN Regional Integration Support from the EU Plus Project (ARISE Plus?Thailand) ในสาขาความช่วยเหลือด้านการแข่งขันทางการค้า ที่จะเสริมสร้างศักยภาพการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีกฎหมายควบคุมราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่เหมาะสมและมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยปรับปรุงรายการสินค้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และยังร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่แรก
นอกจากนี้ ไทยได้แสดงเจตจำนงและอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมคณะมนตรี OECD (OECD Council) ลงมติให้ไทยเข้าสู่กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (accession discussion) จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถยกระดับประเทศสู่มาตรฐานสากลในทุกมิติและมีบทบาทนำในเวทีโลก โดย OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 38 ประเทศ อาทิ อเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
1 กรกฎาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ