‘พาณิชย์’ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ รอบแรก 9-11 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2024 13:07 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?พาณิชย์? เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ รอบแรก 9-11 ก.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ หารือแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างบทของความตกลง วางแผนการเจรจาแต่ละรอบ พร้อมประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า และประชุมคณะทำงานด้านต่างๆ 13 คณะ มั่นใจ! FTA ฉบับนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับไทย ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ startup ของเกาหลีใต้ ทั้งยานยนต์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคี โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง EPA ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นการประกาศเปิดเจรจาความตกลง FTA ไทย-เกาหลีใต้ อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อย่อว่า KTEPA (เคเท็ปป้า)

นางสาวโชติมา กล่าวว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจาจัดทำความตกลง KTEPA ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการจัดทำ FTA ของไทยให้มากขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างบทของความตกลงฯ และวางแผนการดำเนินงานในการเจรจาแต่ละรอบ รวมทั้งจะมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Trade Negotiation Committee) เพื่อกำกับดูแลและติดตามการเจรจาในภาพรวม และการประชุมคณะทำงานด้านต่างๆ จำนวน 13 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 5) มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 7) การค้าบริการข้ามพรมแดน 8) การลงทุน 9) การค้าดิจิทัล 10) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 11) ทรัพย์สินทางปัญญา 12) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ 13) ประเด็นทางกฎหมายและสถาบัน

สำหรับการเจรจา KTEPA ฉบับนี้ ถือเป็นการต่อยอดจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ และ startup ของเกาหลีใต้เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 14,736.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 6,070.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 8,666.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 6,303.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.48 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 2,514.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 3,789.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

6 กรกฎาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


แท็ก เกาหลีใต้   FTA  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ