?พาณิชย์? ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 3/55 และการประชุมหารือกับคู่เจรจา เร่งเครื่องอัปเกรด FTA อาเซียน?ออสเตรเลีย?นิวซีแลนด์ และ FTA อาเซียน?จีน ตั้งเป้าสรุปผลเจรจาในปีนี้ ชูผลลัพธ์สำคัญของงานภายใต้เสาเศรษฐกิจ พร้อมคุยกับคู่ค้า 11 ชาติ เคาะแผนงานความร่วมมือใหม่ๆ รองรับรูปแบบการค้าในอนาคต มุ่งสู่ยุคดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อนชง รมต.เศรษฐกิจ ก.ย.นี้
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ 3/55 และการประชุมหารือกับคู่เจรจา ระหว่างวันที่ 9?14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อเร่งการเจรจายกระดับ FTA ของอาเซียน และสรุปผลการดำเนินการประเด็นเศรษฐกิจสำคัญของอาเซียนในปีนี้ พร้อมทั้งแผนงานความร่วมมือใหม่ๆ กับ 11 คู่เจรจาของอาเซียน เพื่อเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับรองในเดือนกันยายนนี้
นายธัชชญาน์พล กล่าวว่า กรมให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย จึงได้ร่วมผลักดันอาเซียนในการเร่งรัดการเจรจายกระดับ FTA 2 ฉบับ ให้มีผลโดยเร็ว ซึ่ง FTA อาเซียน?ออสเตรเลีย?นิวซีแลนด์ ที่ผ่านการยกระดับใหม่ จะต้องเร่งให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ และ FTA อาเซียน?จีน จะต้องเร่งรัดการเจรจายกระดับให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2567 เพื่อให้ทันรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งเสนอผลลัพธ์สำคัญของงานภายใต้เสาเศรษฐกิจหลายเรื่อง อาทิ การจัดทำร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เพื่อยืนยันถึงความพร้อมของการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมของภูมิภาค ที่จะรับมือกับความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานโลก ความคืบหน้าการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) ซึ่งตั้งเป้าให้คืบหน้าร้อยละ 50 ในปีนี้ ก่อนปิดดีลในปี 2568 การจัดทำแผนงานเพื่อต่อยอดยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน เน้นใช้กลยุทธ์ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของภูมิภาค อาทิ การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าหมุนเวียนในภูมิภาค ผ่านการเจรจากฎระเบียบเพื่อนำสินค้าที่ใช้แล้วมาแปลงเป็นสินค้าเสมือนใหม่ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน (ATIGA) การดึงดูดการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ อาเซียนได้สรุปแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยเน้นสาขาความร่วมมือใหม่ๆ เพื่อรองรับรูปแบบการค้าในอนาคต อาทิ สหราชอาณาจักร เน้นนวัตกรรมดิจิทัล การพัฒนา MSMEs และบริการทางการเงิน ญี่ปุ่น เน้นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ และแคนาดา เน้นด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนกับคู่เจรจารายประเทศ ซึ่งจะพิจารณาให้การรับรองในเดือนกันยายนนี้
17 กรกฎาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ