กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมวงถก FTA อาเซียน?แคนาดา รอบ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ติดตามความคืบหน้าคณะทำงานเจรจากลุ่มต่างๆ ทบทวนแผนงานเร่งเจรจาให้คืบหน้ามากขึ้น เน้นจัดประชุมสถานที่จริง สร้างความเข้าใจในประเด็นติดขัดและประเด็นใหม่ๆ พร้อมหาทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และยืดหยุ่น ตั้งเป้าปิดดีลปี 68
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แคนาดาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 9 เมื่อวันที่ 22?23 สิงหาคม 2567 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานเจรจากลุ่มต่างๆ และผลักดันแผนงานเจรจาเพื่อเร่งสรุปผลให้ได้ภายในปี 2568 ตามที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและแคนาดาตั้งเป้าไว้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการขยายโอกาสการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นางสาวโชติมา กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการทบทวนแผนงานเพื่อเร่งการเจรจาให้คืบหน้ามากขึ้น โดยเน้นการจัดประชุมในสถานที่จริง โดยเพิ่มการจัดประชุมกลุ่มย่อย (mini-rounds) ในช่วงเดือนกันยายน 2567?กุมภาพันธ์ 2568 การผลักดันการใช้โครงการช่วยเหลือทางเทคนิค (Expert Deployment Mechanism : EDM) ของแคนาดาให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจประเด็นที่มีข้อติดขัดและประเด็นใหม่ๆ ในการเจรจา อาทิ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ความเป็นกลางทางการแข่งขัน ความลับทางการค้า และความโปร่งใส เพื่อให้การเจรจาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาการเจรจาบนพื้นฐานของแนวปฏิบัติที่เป็นอยู่ให้มากขึ้น เพื่อให้อาเซียนและแคนาดาเข้าใจปัญหาและข้อจำกัดระหว่างกัน พร้อมทั้งหาทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และให้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถบรรลุผลการเจรจาได้ตามกำหนด
ปัจจุบันการเจรจาของหลายคณะทำงานมีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะคณะทำงานด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และคณะทำงานด้านการค้าบริการ ซึ่งสามารถจัดทำตัวบทการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาได้แล้ว จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองชั่วคราว และการพำนักชั่วคราวแก่นักธุรกิจอาเซียนและแคนาดา ส่วนบทที่มีความคืบหน้าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากท่าทีที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย อาทิ การเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช จำเป็นที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าต่อไป ขณะที่คณะทำงานใหม่ที่เพิ่งจัดตั้ง ได้แก่ คณะทำงานด้านการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ครอบคลุมประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้าที่ครอบคลุม และคณะทำงานด้านแนวปฏิบัติที่ดีในการออกกฎ ได้เริ่มมีการเจรจาแล้ว
สำหรับ FTA อาเซียน?แคนาดา ถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งแคนาดาเป็นตลาดศักยภาพขนาดใหญ่ ที่มีกำลังซื้อสูง มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และมีแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญ รวมทั้งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น นอกจากนี้ การเจรจายังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นการค้าใหม่ๆ อาทิ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวปฏิบัติที่ดีในการออกกฎ และความโปร่งใส ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานกฎเกณฑ์ทางการค้าให้เป็นมาตรฐานสากล และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.?มิ.ย. 2567) การค้าระหว่างอาเซียนกับแคนาดา มีมูลค่า 14,529.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแคนาดาส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 3,160.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.8 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ธัญพืช เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และปุ๋ย และแคนาดานำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 11,368.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.?มิ.ย. 2567) แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 30 ของไทย โดยการค้าระหว่างไทยกับแคนาดา มีมูลค่า 1,509.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปแคนาดา มูลค่า 992.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และข้าว และไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 517.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.4 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และปุ๋ย
2 กันยายน 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ