‘รมช. สุชาติ’ ถก “รมว. การค้าเกาหลีใต้” มุ่งกระชับความสัมพันธ์การค้า-การลงทุน ไทย-เกาหลีใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2024 14:53 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (25 กันยายน 2567) ตนได้เข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเจรจาความตกลง EPA ไทย ? เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 ? 27 กันยายน 2567 ณ กรุงโซล ร่วมกับรัฐมนตรีการค้า (นายชอง อิน-กโย) กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ ซึ่งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งเดินหน้าการเจรจาให้สามารถสรุปผลได้ภายในปี 2568 ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งไทยได้ขอให้ฝ่ายเกาหลีใต้พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ สินค้ากลุ่มผลไม้เมืองร้อน เช่น มะม่วง มังคุด และสับปะรด กุ้งสดและแปรรูป เนื้อไก่สดและแปรรูป

ในวันเดียวกันนี้ ตนได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้า (นายชอง อิน-กโย) กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ณ กรุงโซล ซึ่งไทยและเกาหลีใต้ได้พัฒนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันมากว่า 10 ปี และทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ

ไทย - เกาหลีใต้ (Economic Partnership Agreement: EPA) ซึ่งจะเป็นความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีที่ครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยและเกาหลีใต้เป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

นอกจากนั้น ยังหารือถึงการรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ JTC ระดับรัฐบาลที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี เพื่อใช้เป็นเวทีหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้า การลงทุน และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ในช่วงต้นปี 2568 นอกจากนั้น ผมได้แจ้งฝ่ายเกาหลีใต้ว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ของเกาหลีใต้ที่จะมีขึ้นในปี 2568 นี้

?ผมใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งฝากเกาหลีใต้ช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนของไทยที่ปัจจุบันมีการลงทุนในเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารไทยและบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้าจากไทย รวมถึง การลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง จากบริษัท เอ็กโก กรุ๊ป จำกัด และบริษัท บี. กริม พาวเวอร์ จำกัด โดยบริษัท บี. กริม พาวเวอร์ จำกัด มหาชน ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเกาหลีใต้ มูลค่ารวมกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Growth) ของรัฐบาลเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ที่กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593? นายสุชาติกล่าว

ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. - ก.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 8,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 3,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 5,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ในปี 2566 เกาหลีใต้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 7 จำนวน 25 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 38,418 ล้านบาท

25 กันยายน 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ