‘อาเซียน’ ติดตามการดำเนินงานสำคัญ เร่งอัปเกรดความตกลง ATIGA ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2024 13:47 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?อาเซียน? ติดตามการดำเนินงานสำคัญ ทั้งการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การปรับโอนพิกัดศุลกากร เร่งอัปเกรดความตกลงความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ตั้งเป้าสรุปผลต้นปี 68 เล็งแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้าประเภทต่างๆ กับประเทศคู่เจรจา พร้อมรับทราบผลการศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อใช้เป็นแนวทางการเจรจา และผลักดันการใช้ประโยชน์จากความตกลง ATIGA ให้มากขึ้น

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 38 (The 38th AFTA Council) เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินการการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินการสำคัญ อาทิ การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) สำหรับการขอรับสิทธิพิเศษทางศุลกากรอย่างเต็มรูปแบบของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ การปรับโอนพิกัดศุลกากรของตารางการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน จากระบบ AHTN 2017 เป็น AHTN 2022 ผลการศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการค้าภายในอาเซียนที่ผ่านมา และติดตามความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA Upgrade) โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจายกระดับในช่วงต้นปี 2568

นายเอกฉัตร กล่าวว่า ความสำเร็จที่สำคัญในปีนี้ คือ การส่งออกและนำเข้าโดยใช้ e-Form D อย่างเต็มรูปแบบของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกและนำเข้าสินค้า นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ริเริ่มการหารือกับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Dialogue Partners) ถึงความเป็นไปได้ในการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้าประเภทต่างๆ อาทิ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองสุขภาพสัตว์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการค้าภายในอาเซียนที่ผ่านมา โดยในส่วนของไทย พบว่า ระหว่างปี 2564-2565 สินค้าชา กาแฟ ผัก และผลไม้ เป็นสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีส่งออกไปอาเซียนสูงสุด ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ 1) ข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความตกลง 2) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้ามีรายละเอียดมาก และมีความเข้มงวดสูง และ 3) ภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านเอกสาร โดยอาเซียนจะได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้ประกอบการเจรจา เพื่อยกระดับและพัฒนาให้เกิดการใช้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียนมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันได้ข้อสรุปไปเกินกว่าร้อยละ 69 ของการเจรจาข้อบททั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาและลงนามความตกลงฯ ภายในเดือนมีนาคมและกันยายน 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ การเจรจาที่ผ่านมา ไทยได้เน้นย้ำถึงหลักการความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ที่ประเทศสมาชิกจะต้องให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ดีที่สุดกับสมาชิกอาเซียนด้วยกัน โดยการเจรจายกระดับความตกลงจะต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า และสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค เพื่อนำอาเซียนไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันที่แท้จริง

2 ตุลาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ