?รัฐมนตรี RCEP? ถกเข้ม เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ หนุนประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น พร้อมสรุปขั้นตอนต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ความตกลงฯ ได้สำเร็จ เดินหน้าเตรียมการเปิดสำนักงานฝ่ายเลขานุการฯ อย่างเต็มรูปแบบ เดือนพ.ย.นี้ ด้านชิลี ยื่นหนังสือขอเข้าร่วมความตกลงฯ แล้ว ถือเป็นประตูการค้าและการลงทุนสู่ตลาดลาตินอเมริกา
นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) เข้าประชุมรัฐมนตรี RCEP ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับรัฐมนตรี RCEP เพื่อผลักดันให้ความตกลง RCEP เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค พร้อมทั้งสรุปผลการจัดทำขั้นตอนการรับสมาชิกใหม่เข้าร่วมความตกลงฯ และเตรียมการเปิดสำนักงานฝ่ายเลขานุการสนับสนุนความตกลง RCEP ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายเอกฉัตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและความท้าทายในการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยมุ่งสร้างความพร้อมและการปรับตัวให้ทุกภาคส่วนของประเทศสมาชิกให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญและสนับสนุนให้สมาชิกมีส่วนร่วมในกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและเทคนิคมากขึ้น เพื่อลดช่องว่างในการดำเนินการตามพันธกรณีของความตกลง RCEP และมีส่วนร่วมในการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อการสรุปผลการจัดทำขั้นตอนกระบวนการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ความตกลง RCEP ได้แล้วเสร็จ ตลอดจนการคัดเลือกนาย Taufiq A. Wargadalam จากอินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานเลขานุการสนับสนุนความตกลง RCEP ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการดูแลการดำเนินการภายใต้ความตกลงฯ และการเปิดสำนักงานเลขานุการฯ ภายใต้สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะช่วยประสานงานและการดำเนินกิจกรรมของประเทศภาคีให้เป็นไปอย่างมีระบบและประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ความตกลงฯ และการเตรียมการพิจารณารับสมาชิกใหม่
สำหรับชิลีได้ยื่นหนังสือขอเข้าร่วมความตกลง RCEP นับเป็นเขตเศรษฐกิจที่ 3 ต่อจากฮ่องกงและศรีลังกา ถือเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงตลาด 2 ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ขยายห่วงโซ่มูลค่าของอาเซียนสู่ตลาดลาตินอเมริกาเป็นครั้งแรก สอดรับกับนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลไทยในการใช้ FTA เป็นเครื่องมือขยายการค้าและการลงทุนของไทย และแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดใหม่
ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่า 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไป RCEP มีมูลค่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 51.0 ของมูลค่าการค้าไทยไปตลาดโลก และไทยนำเข้าจาก RCEP มูลค่า 1.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 57.7 ของการนำเข้าของไทยไปตลาดโลกตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ครองสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 23.52 และญี่ปุ่น ครองสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 16.98
4 ตุลาคม 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ