‘อาเซียน’ ลุยถกคู่ค้า เร่งขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุน เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว การพัฒนา SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2024 13:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

?อาเซียน? ลุยถกประเทศคู่ค้า เร่งขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน เน้นเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว การพัฒนา SMEs ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรไปรัสเซีย หนุนการเจรจาจัดทำ FTA กับ UK และ EAEU เคาะแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหรัฐฯ ที่จะใช้ในปี 67-68 เร่งเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ให้คืบหน้าตามเป้า พร้อมรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียน-EFTA

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่ค้า ได้แก่ สหราชอาณาจักร (UK) รัสเซีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป (EU) และสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อหารือติดตามความคืบหน้าในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

นายเอกฉัตร กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-UK ครั้งที่ 4 (The 4th AEM-UK Consultation) ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือเรื่องต่างๆ ในช่วงปี 2023-2024 อาทิ การปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล และการส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้หารือกับศาสตราจารย์ไมเคิล ไมเนลลี่ (Lord Mayor of London) ผู้แทนระหว่างประเทศเพื่อการส่งเสริมภาคการเงินและการบริการขั้นสูงของ UK โดยทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่ไทยและ UK ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่แน่นแฟ้น (Enhanced Trade Partnership: ETP) ซึ่งเห็นว่าจะเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับความสัมพันธ์สองประเทศ ผ่านกิจกรรมความร่วมมือทางเศรษฐกิจครอบคลุม 20 สาขาสำคัญ โดยเฉพาะสาขาเกษตร อาหาร ดิจิทัล การท่องเที่ยว และบริการการเงิน ซึ่งเป็นสาขาที่ UK มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพิจารณาเจรจา FTA ระหว่างกันในอนาคต

นอกจากนี้ UK ได้แสดงความสนใจที่จะหารือกับไทยเพิ่มเติมในเรื่องการบริการและการเงิน อาทิ กระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคบริการ (Digitalization in Services) และการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมทั้งกฎระเบียบด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Regulations) ที่ในปัจจุบัน UK ยังไม่มีกฎหมายในด้านนี้เป็นการเฉพาะ แต่มีใช้กำกับในรายสาขา อาทิ การเดินเรือ และความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) และกล่าวขอบคุณ UK ที่ให้การสนับสนุนการเจรจา DEFA มาโดยตลอด ซึ่ง DEFA จะเป็นประโยชน์ต่อชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึงไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 13 (The 13th AEM-Russia Consultation) ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงานภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) อาทิ EAEU-ASEAN Business Dialogue และการเตรียมการสำหรับงาน The Second Stage Seminar of the Digital Transformation in the EAEU and ASEAN ในปี 2025 รวมถึงขยายกิจกรรมเพิ่มเติมในด้านการขนส่ง และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงความร่วมมือในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็งมากขึ้น

นอกจากนี้ ได้ร่วมหารือกับนายวลาดิมีร์ อิลลิโชฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจสหพันธรัฐรัสเซีย โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้า และแนวทางที่จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกัน ทั้งการค้าสินค้าและภาคบริการ ซึ่งไทยได้ผลักดันให้รัสเซียเปิดตลาดสินค้าเกษตรให้แก่ไทยมากขึ้น อาทิ ผลไม้เขตร้อน และมะม่วง ขณะที่รัสเซียขอให้ไทยพิจารณาเปิดตลาดนำเข้าเนื้อปศุสัตว์ รวมทั้งสนใจที่จะร่วมมือในด้านการขนส่งสินค้าทางเรือกับไทยผ่านท่าเรือเมืองวลาดิวอสต็อกของรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองไฮฟองและโฮจิมินห์ของเวียดนามไปยังรัสเซียในเส้นทางนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งฝ่ายรัสเซียถึงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-สหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 5 ในปีนี้ ตามวาระที่ไทยจะหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพสลับกับฝ่ายรัสเซีย ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ผลักดันการเพิ่มมูลค่าการส่งออก ยกระดับด้านโลจิสติกส์ และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ได้ใช้โอกาสนี้หารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อเป็นช่องทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซีย และกับประเทศสมาชิก EAEU ต่อไป

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (AEM-USTR Consultation) ไทยได้ร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (United States Trade Representative: USTR) เห็นชอบแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหรัฐฯ ที่จะนำมาใช้ในปี 2567-2568 เน้นสาขาที่สำคัญ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนา SMEs สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา ความยั่งยืน การแข่งขันทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานความร่วมมือในประเด็นการค้าใหม่ๆ ระหว่างสองภูมิภาค

นอกจากนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) ซึ่งภาคเอกชนให้การสนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ของอาเซียนให้มีความทันสมัยและมีมาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรอบด้าน และการเชื่อมโยงทางการค้าอย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่หมุนเวียนและยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ขณะที่การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา (AEM-Canada) ครั้งที่ 13 ได้ร่วมผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ให้คืบหน้าตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และใช้ประโยชน์จากโครงการช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อการค้าและพัฒนาของแคนาดา เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาขีดความสามารถให้แก่อาเซียนต่อประเด็นการค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน โดยภาคเอกชนแคนาดาให้ความสำคัญเรื่องพลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AEM-CER) ครั้งที่ 29 ที่ประชุมได้ร่วมยินดีต่อผลสำเร็จของการเจรจาอัปเกรดความตกลง AANZFTA ซึ่งจะมีส่วนช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค พร้อมเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการอัปเกรดความตกลงฯ ที่ทันสมัย สอดรับกับบริบทการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ครอบคลุมการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า การเปิดตลาดการค้าบริการและการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ อาทิ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ของอาเซียนที่จะขับเคลื่อนไปสู่ภูมิภาคที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอาเซียนให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกและไทยพร้อมเร่งดำเนินกระบวนภายในของตน เพื่อให้ความตกลง มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทั้งด้านทางภาษี และกลไกความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของภาคเอกชนไทย

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสหภาพยุโรป (EU) ได้ติดตามความคืบหน้าแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป ปี 2024-2025 ซึ่งครอบคลุมหลายกิจกรรมและสาขาความร่วมมือ อาทิ โครงการด้านสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ความร่วมมือในการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานอาเซียน และกิจกรรมหารือธุรกิจ นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมหารือกับผู้แทนจากภาคเอกชนของสหภาพยุโรป เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบมุมมองจากภาคเอกชน รวมถึงพิจารณาแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและภาคเอกชนในอนาคต

นอกจากนี้ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีการค้าสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Joint Declaration on Economic Cooperation: JDC) ระหว่างอาเซียนและเอฟตา (EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคต

5 ตุลาคม 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ