ไทย-ตุรกี ชื่นมื่น รมช. สุชาติ จับมือ รมช. การค้าตุรกี ผลักดันเจรจา FTA ต่อ เพื่อสานสัมพันธ์การค้าการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 6, 2024 15:57 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู (H.E. Mr. Mustafa Tuzcu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (COMCEC) ครั้งที่ 40 ภายใต้องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 ณ นครอิสตันบูล

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะการกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี ซึ่งได้หยุดชะงักลงตั้งแต่ ปี 2565 หลังจากการเจรจาร่วมกันมา 7 รอบโดยขอให้คณะเจรจาสองฝ่ายกลับเข้าสู่การเจรจา FTA ระหว่างกันโดยเร็ว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายนอกจากนั้น ฝ่ายตุรกียังได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee (JTC) ระดับรัฐมนตรี ณ กรุงอังการา ซึ่งเป็นกลไกการหารือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับตุรกี ที่สองฝ่ายได้จัดตั้งไว้แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการประชุมระหว่างกัน

?ผมแจ้งฝ่ายตุรกีว่าไทยพร้อมเข้าร่วมประชุม JTC ไทย-ตุรกี ครั้งที่ 1 เพื่อจะได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ผมได้เชิญชวนฝ่ายตุรกีให้เข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ EEC ขณะเดียวกัน ฝ่ายตุรกีก็เชิญชวนไทยเข้าไปลงทุนในตุรกี ซึ่งผมได้แจ้งว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และผมจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในตุรกีต่อไป ส่วนการเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ ผมขอให้ทีมเจรจาสองฝ่ายพูดคุยกันต่อ เพื่อผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไป ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ? นายสุชาติกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 33 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 4 ในตะวันออกกลาง ในระยะ 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,221 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และเส้นใยประดิษฐ์ และสินค้านำเข้า ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องประดับอัญมณี น้ำมันดิบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

5 พฤศจิกายน 2567

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ