กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-MERCOSUR ช่วยเพิ่ม GDP ของไทย 1.62 % หนุนส่งออกโต 1.33% ขยายโอกาสส่งออกสินค้าไทยทั้งเมล็ดธัญพืช ผัก ผลไม้ เมล็ดถั่ว น้ำมันและไขมันจากพืช ด้านบริการมีธุรกิจก่อสร้าง การค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม และร้านอาหาร หนุนความร่วมมือด้านต่างๆ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เป็นประตูการค้าไปสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกา
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาภายใต้โครงการจ้างศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของการจัดทำ FTA ไทย-ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ เมอร์โคซูร์ (MERCOSUR) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมอวานี รัชดา กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ผ่านการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (เมอร์โคซูร์) ประกอบด้วย ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย มีประชากรกว่า 300 ล้านคน เป็นตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นประตูการค้าในการกระจายสินค้าของไทยในภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มีสัดส่วนการค้ากว่าร้อยละ 90 ของการค้ารวมทั้งกลุ่ม
นางสาวโชติมา กล่าวว่า จากผลการศึกษาการจัดทำ FTA กับเมอร์โคซูร์ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.62 มูลค่าการส่งออกระหว่างไทยและเมอร์โคซูร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.33 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.25 ซึ่งเป็นผลจากการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี และการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น รวมทั้งช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดเมอร์โคซูร์ โดยเฉพาะสินค้าเมล็ดธัญพืช ผัก ผลไม้ เมล็ดถั่ว น้ำมันและไขมันจากพืช และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้กับภาคบริการที่มีศักยภาพของไทยที่จะเข้าสู่ตลาดเมอร์โคซูร์มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง การค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม และร้านอาหาร โดยการศึกษาที่ไทยดำเนินการอยู่นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของไทยกับกลุ่มเมอร์โคซูร์ สร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย ช่วยระบุโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางรองรับปรับตัวที่เหมาะสม
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยเห็นว่าการจัดทำ FTA จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งการนำเข้าและส่งออก และเป็นโอกาสสำหรับไทยในการได้มาซึ่งวัตถุดิบราคาถูก และส่งออกสินค้าแปรรูปและมีมูลค่าเพิ่มด้วย อาทิ สินค้าอาหารสัตว์ ผลไม้ และสินค้าประมงแปรรูป นอกจากนี้ ตลาดบราซิลถือเป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่โดดเด่น ซึ่งไทยจะสามารถขยายการค้าในตลาดบราซิล เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน จะช่วยเปิดโอกาสทางการค้าโดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร รวมถึงความร่วมมือต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ ประกอบกับไทยมีจุดเด่นที่จะเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียน จึงเป็นโอกาสหากไทยจะจัดทำ FTA กับกลุ่มเมอร์โคซูร์เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองภูมิภาค
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2567) การค้าระหว่างไทยและกลุ่มเมอร์โคซูร์ มีมูลค่า 6,560.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปกลุ่มเมอร์โคซูร์ มูลค่า 2,896.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากกลุ่มเมอร์โคซูร์ มูลค่า 3,663.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช น้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
14 พฤศจิกายน 2567
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ