”พิชัย“ ลุยสหรัฐ ถก USCC - USABC พบภาคเอกชนยักษ์ใหญ่กว่า 26 บริษัท ชูจุดแข็ง FTA -โครงสร้างพื้นฐานพร้อม ดึงดูดลงทุนอุตสาหกรรมใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 10, 2025 15:02 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ประกอบด้วยคณะนักธุรกิจจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce - USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ?อาเซียน (US-ASEAN Business Council - USABC) ณ สำนักงาน U.S. Chamber of Commerce กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลและภาคเอกชนสหรัฐฯ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มุ่งขยายการค้าและการลงทุนของไทย ซึ่งไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก มีจุดแข็งที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรม Data Center และ AI ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Google, Microsoft และ Amazon เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว

นายพิชัย กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพบกับหอการค้าสหรัฐฯ USCC และสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ USABC ซึ่งในการหารือมีภาคเอกชนกว่า 26 บริษัทมาพบกับตน ทุกคนต่างก็ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทางรัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ก็พยายามส่งเสริมการค้า-ลงทุน และในการพบกับภาคเอกชนรายใหญ่ทั้ง 26 บริษัท เช่น Pepsi, Tyson Food, Apple และ Cargill ต่างมีความต้องการขยายการลงทุนกับไทย เพราะไทยเป็นหุ้นส่วนที่ดี ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยอาศัยข้อได้เปรียบของไทย จากข้อตกลง Treaty of Amity ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจสหรัฐฯ สามารถถือหุ้น 100% ในไทย ซึ่งเป็นสิทธิที่ไทยไม่เคยมีให้กับประเทศอื่น

และทางภาคเอกชนของสหรัฐฯ ก็ยินดีที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทำ FTA กับเอฟตา (สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตล์) และไทยยังมีแผนที่จะทำ FTA กับอีกหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และโดยเฉพาะกับอียู ที่มีสมาชิกอีกกว่า 27 ประเทศ โดยท่านนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) เร่งรัดให้สำเร็จภายในปีนี้ และเชื่อว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะเข้ามาลงทุนมากขึ้นอย่างแน่นอน

นายพิชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในการหารือตนได้เน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 ประเทศไทยมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี การส่งออกโตปี 2567 โตถึง 5.4 % พร้อมชูความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลาง Data Center, AI และอุตสาหกรรมอาหาร โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังคงจับตานโยบายการค้าของรัฐบาลตนเอง และมุมมองของภาคเอกชนสหรัฐฯ ต่อไทยยังคงเป็นบวก โดยเห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ และเป็นฐานการผลิตที่ดีในภูมิภาคดังนั้น ตนจึงได้เชิญชวนบริษัทสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล และเกษตรอาหาร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้การสนับสนุนในด้านนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเต็มที่ ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

ทั้งนี้ในการหารือกับหอการค้าสหรัฐฯ (USCC) สภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐฯ (USABC) ได้มีผู้บริหารจากกว่า 26 บริษัท ได้แก่ Nasdaq, FedEx, The Asia Group, PepsiCo, IBM, Mars, Citi, Organin, Intel, Vriens & Partners, ConocoPhillips, Caterpillar, Seagate, Tyson Food, Apple, DGA-Albright, Stonebridge Group, BowerGroupAsia, S&P Global, Visa, Boeing, Dow, Cargill, 3M และ Viatris เข้าร่วมด้วย โดยในปี 2567 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวม 74,484.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 54,956.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยางอัญมณี รถยนต์ และเครื่องปรับอากาศ และไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 19,528.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล และเคมีภัณฑ์

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ