?พาณิชย์? เผย ไอศกรีมไทยสุดฮอต ส่งออกเบอร์ 1 ในเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไอศกรีมไปตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 11% ต่อปี ช่วง 2 เดือนแรกปี 68 ส่งออกไปตลาด FTA มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชี้เป้าไทยมีจุดแข็งของความหลากหลายด้านวัตถุดิบ มีศักยภาพการผลิต พร้อมก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอศกรีมในภูมิภาคเอเชีย แนะใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสขยายส่งออก
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าไอศกรีมของไทยโดดเด่นและน่าจับตามองมาก เนื่องจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกสินค้าไอศกรีมของไทยมีอัตราการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวได้ดีท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่มีความท้าทายสูง โดยปัจจุบันไทยครองแชมป์เป็นประเทศผู้ส่งออกไอศกรีมอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563-2567) ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลกเฉลี่ยปีละ 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 11 ต่อปี สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) ไทยส่งออกไอศกรีมสู่ตลาดโลก มูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นางสาวโชติมา กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการส่งออกและปลดล็อคกำแพงภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้าที่ไทยมี FTA ด้วย 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยปัจจุบันสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ทุกรายการของไทย ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าแล้วจาก 17 ประเทศคู่ FTA แล้ว เหลือเพียงญี่ปุ่นที่ยังเก็บภาษีนำเข้า ร้อยละ 21-29.8 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไอศกรีมไปตลาดคู่ FTA ขยายตัวมาโดยตลอด สำหรับในช่วง 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) ไทยส่งออกไอศกรีมไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไอศกรีมไปประเทศคู่ FTA ถึงร้อยละ 87 ของการส่งออกสินค้าไอศกรีมทั้งหมด และเติบโตได้ดีเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย ขยายตัวร้อยละ 9 โดยมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 9 ฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 70 และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 41 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 9 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 32 ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 116 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 827
?ในระยะยาวคาดว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอศกรีมของไทยจะเติบโตมากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ FTA ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลาย ทำให้ไทยมีความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอศกรีมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ของโลกต่างเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไอศกรีมในภูมิภาค ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานในการผลิต รวมถึงพัฒนาสินค้าคิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อสร้างจุดขายในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ? นางสาวโชติมาเสริม
25 เมษายน 2568
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ