นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2551 ณ เมืองอริควิปา ประเทศเปรู เปิดเผยว่า หัวข้อสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ บทบาทของเอเปคในการสนับสนุนการเจรจาการค้าพหุภาคี วิกฤตการ์ด้านอาหาร การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาค (Regional Economic Integration) และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน
ในเรื่องการเจรจารอบโดฮา ที่ประชุมได้ใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงหารือในการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนาย Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้สรุปให้ที่ประชุมทราบถึงสถานะของการเจรจาว่า ขณะนี้การเจรจาได้มาถึงจุดที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากได้มีการเสนอร่างเอกสารใหม่ 4 เรื่อง คือ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม กฎเกณฑ์ และการค้าบริการ นาย Lamy ตั้งเป้าหมายว่า จะจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 26 มิถุนายน 2551 เพื่อพิจารณาประเด็นใหญ่ที่ยังค้างอยู่ พร้อมทั้งขอให้ประเทศต่างๆ พิจารณาความสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นกับระดับการเปิดตลาดอย่างแท้จริง เพื่อให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ในปลายปีนี้
ในการนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ออกแถลงการณ์แยก (stand-alone statement) เรื่องการเจรจา
รอบโดฮา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองผลักดันให้การเจรจาสรุปผลในปลายปีนี้โดยมผลการเจรจาที่สมดุลและเปิดตลาดอย่างแท้จริง และครอบคลุมทุกเรื่อง ความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮายังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ราคาอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
วิกฤตการณ์ด้านอาหาร รัฐมนตรีการค้าเอเปคส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ผลจากการถีบตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค เอเปคควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอุปทานอาหารและไม่ควรออกมาตรการจำกัดการส่งออก เพราะจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม
การรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้นในภูมิภาค (Regional Economic Integration : REI) รวมถึงความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากปีก่อน ในปีนี้รัฐมนตรีการค้าเอเปคให้ความเห็นชอบต่อ
ผลงานสำคัญ 12 เรื่องที่จะสร้างความคืบหน้าในเรื่องนี้ เช่น ในปีนี้ เอเปคได้ศึกษาความเหมือนและแตกตต่างของความตกลง FTA ที่สมาชิกเอเปคทำ และศึกษาแนวทางต่าง ๆ สำหรับการเจรจา FTAAP ใน
อนาคต และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รายงานความคืบหน้า รวมทั้งเสนอขั้นตอนต่อไปในการดำเนินงานสำหรับปี 2552 และช่วงต่อไปภายในการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในปลายปีนี้
การอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำตัวชี้วัด (KPI) และวิธีการวัดความคืบหน้าในการปฏิบัติงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วงที่ 2 (Trade Facilitation Action Plan: TFAP 2) เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลงอีก 5% ในปี 2010 โดยฮ่องกงได้ประกาศจ่ายเงินสมทบจำนวน 500,000 เหรียญสหรัฐฯ เข้า APEC Support Fund เพื่อสนับสนุนการจัดให้ความช่วยเหลือ (capacity building) แก่สมาชิกเอเปคให้สามารถปฏิบัติงานตามแผนงานดังกล่าว
ตัวอย่าง KPI เช่น จำนวนสมาชิกเอเปคที่สามารถออกวีซ่าได้ภายในเวลา 30 วันสำหรับการเข้ามาพำนักชั่วคราวของบุคลากรที่มีโอนย้ายภายในบริษัท จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการบัตร ABTC จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมจัดทำ APEC Food MRA จำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมจัดทำ MRA ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคยังได้รับรองแผนการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Investment Facilitation Action Plan: IFAP) ช่วงปี 2008-2010 รวมทั้ง model measures ภายใต้ RTAs/FTAs เพิ่มขึ้นอีก 3 เรื่องเพื่อใช้เป็นแนวทางการเจรจาจัดทำ RTAs/FTAs ของสมาชิกเอเปค ประกอบด้วย นโยบายการแข่งขัน สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ
อนึ่ง สมาชิกเอเปคมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น ประมาณ 2,500 ล้านคน (45% ของประชากรโลก) มี GDP มากกว่า 19 ล้านล้าน US$ (57% ของ GDP โลก) และมูลค่าการค้าระหว่างสมาชิกเอเปค กว่า 70% และการค้ากับประเทศนอกกลุ่มประมาณ 30% ดังนั้น เอเปคเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับไทย การเข้าร่วมของไทยในเอเปคจึงเป็นประโยชน์ในการขยายความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุนกับสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการขยายตัวทางการค้าการลงทุนสูง รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ และความช่วยเหลือเสริมสร้างขีดความสามารถจากสมาชิกที่พัฒนาแล้ว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-