“พาณิชย์” คาดเอฟทีเอไทย-เปรู มีผลบังคับใช้ต้นปีหน้าเผยไทยจะส่งออกได้มากขึ้น ทั้งรถปิกอัพ หลอดไฟ พลาสติก ยาง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ทีวี แอร์ เครื่องซักผ้า แถมยังได้นำเข้าวัตถุดิบสินแร่ สังกะสีดีบุก รัตนชาติราคาถูก “ชุติมา” ย้ำยังไม่มีการลดภาษีปลาป่น เป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต่อไป ระบุแม้จะเปิดเสรี แต่ก็มีเซฟการ์ดป้องกัน และมีกองทุนเอฟทีเอช่วยอีกทาง ระบุไทยช้าไม่ได้ สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ล้วนกำลังเจรจาทำเอฟทีเอกับเปรู
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-เปรู ว่า ขณะนี้ไทยและเปรูกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการกระบวนการภายในประเทศเพื่อเร่งรัดให้เอฟทีเอ ที่ทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงที่จะเปิดตลาดสินค้าระหว่างกันในเบื้องต้นประมาณ 70% ของสินค้าทั้งหมดให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณต้นปี 2552 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ในการเปิดเสรีสินค้าบางส่วน 70% นั้น สินค้ากลุ่มแรก 50% จะมีการลดภาษีเป็น 0% ทันที ซึ่งมีสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ทันทีคิดเป็น 80% ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรู เช่น รถปิคอัพ หลอดไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เลนส์แว่นตา ยางและผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์ เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เส้นใยสั้นสังเคราะห์ โทรทัศน์ เป็นต้น ส่วนอีก 20% จะลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 5 ปี มีสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เช่น ด้ายโพลีเอสเตอร์ ด้ายใยสังเคราะห์ จักรยานยนต์ เป็นต้น ในทางกลับกัน ไทยจะมีการลดภาษีเป็น 0% ทันทีสำหรับสินค้านำเข้าจากเปรู แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้าเพื่อการผลิต เช่น สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ด้ายและผ้าทอขนสัตว์ ปลาหมึก เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยจะลดภาษีเป็น 0% ภายใน 5 ปี เช่น สังกะสี น้ำมันปลา เป็นต้น
นางสาวชุติมากล่าวว่า สำหรับสินค้าปลาป่น ที่มีการเป็นห่วงว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอกับเปรู เพราะเปรูเป็นแหล่งผลิตและส่งออกปลาป่นอันดับหนึ่งของโลก หากไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าปลาป่นจากเปรู จะทำให้สินค้าดังกล่าวเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบธุรกิจปลาป่นของไทย กรมฯ ขอยืนยันว่าจนขณะนี้สินค้ากลุ่มนี้ยังไม่ได้รวมอยู่ในการเปิดเสรีการค้าสินค้าบางส่วน แต่เป็นหนึ่งในรายการที่เหลือที่จะต้องเจรจาเปิดตลาดต่อไป
“คงจะหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีไม่ได้ แต่ในการเปิดเสรี ได้มีเงื่อนไขว่าหากมีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจากการลดภาษีจนทำให้อุตสาหกรรมภายในเสียหาย ก็สามารถใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) เป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งไทยและเปรูอยู่ระหว่างการเจรจามาตรการดังกล่าว ขณะเดียวกัน รัฐยังมีเครื่องมือช่วยเหลือโดยได้ตั้งกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้” นางสาวชุติมากล่าว
นางสาวชุติมากล่าวเพิ่มอีกว่า ขณะนี้เปรูได้ทำความตกลงเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีก เช่น สิงคโปร์ และจีน และมีแผนจะเจรจากับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าของประเทศข้างต้นจะเข้าสู่ตลาดเปรูได้สะดวกขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่มีการเปิดเสรีการค้าสินค้า
สำหรับข้อเสนอแนะในการปรับตัว เช่น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ การบริหารต้นทุน การพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้า โดยยกระดับเข้าสู่ตลาดบน เพื่อลดการแข่งขัน และเน้นการสร้างแบรนด์เนมสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การขยายตลาดเชิงรุกให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงให้มากขึ้น มีการส่งมอบสินค้าอย่างรวดเร็วและตรงเวลา รวมทั้งจะต้องมีการติดต่อคู่ค้าชาวเปรูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-