พาณิชย์หารือกลุ่มเหล็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 12, 2008 13:52 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหารือกลุ่มเหล็กเตรียมท่าทีก่อนลุยเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียู เผยไม่มีปัญหาหากเปิดเสรีกับอียูเดิม 27 ประเทศ แต่หากอนาคตอียูเพิ่มสมาชิกต้องเจรจากันใหม่ หวั่นเหล็ก CIS และยูเครน เข้ามาตีตลาด ขณะที่กลุ่มเหล็กเสนอทางออกเพิ่มขีดแข่งขัน ไทยต้องมีโรงถลุงเหล็กภายในประเทศ นัดเปิดเวทีสาธารณะ 17 ก.ย.นี้ แจงความคืบหน้าและทำท่าทีไทย  
นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการศึกษาข้อมูลการเปิดเสรีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กและการค้าเหล็กของโลกและของไทยเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อียู ซึ่งทางกลุ่มเหล็กได้แจ้งว่า ไม่มีข้อกังวลแต่ประการใดในการเปิดเสรีกับอียูเดิมที่ประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ แต่ในอนาคตหากอียูมีการเพิ่มประเทศสมาชิกที่มาจากสหภาพโซเวียตเก่า เช่น กลุ่ม CIS และยูเครน จะทำให้กลุ่มเหล็กมีปัญหาได้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการผลิตและส่งออกเหล็ก
“กลุ่มเหล็กได้เสนอความเห็นว่า ในความตกลงอาเซียน-อียู ควรจะมีการกล่าวถึงการขยายสมาชิกของอียูด้วย หากมีการขยายสมาชิกเพิ่มจาก 27 ประเทศ จะต้องมีการเจรจาทบทวนความตกลงใหม่ เพราะกลุ่มเหล็กของไทยจะได้รับผลกระทบทันที ซึ่งกรมฯ ได้รับที่จะนำความเห็นของภาคเอกชนไปประกอบเป็นท่าทีในการเจรจาในเรื่องเหล็กกับทางอียูแล้ว”นายชนะกล่าว
นายชนะกล่าวว่า สำหรับแนวทางที่ทางกลุ่มเหล็กได้เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเหล็กขาดแคลนและทำให้อุตสาหกรรมของไทยแข่งขันได้ ก็คือ ไทยควรจะมีโรงถลุงสินแร่เหล็กเอง ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเหล็กนำเข้า และไม่ต้องโดนการกำหนดราคาโดยกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก 6 รายใหญ่ เพราะการซื้อขายสินแร่เหล็กจะทำสัญญา Supply 3-5 ปีให้โรงถลุงเหล็ก และกำหนดราคาสินแร่ตายตัวตามระยะเวลาของสัญญา ทำให้ต้นทุนของการผลิตเหล็กสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบต้นทุนจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้า น้ำมันและถ่านหินอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ส่งออกสินแร่เหล็กรายใหญ่ของโลก 3 ราย และคุม Supply สินแร่เหล็ก 70% ของโลก เป็นของออสเตรเลีย 2 ราย คือ เลโอดินโต และ BHP และของบราซิล 1 ราย คือ บริษัท วาลี ส่วนโรงถลุงเหล็ก 6 กลุ่มใหญ่ที่คุม Supply เหล็ก 80% ของโลก คือ อาเซอร์มิตเทา ซึ่งเป็นชาวอินเดีย เป็นเจ้าของโรงถลุงเหล็กในยุโรป อเมริกา และที่อื่นๆ ทั่วโลก นิปปอนสตีล JFE ของญี่ปุ่น COSCO ของเกาหลี บาวสตีล ของจีนและเซี่ยงไฮ้ และตาตาร์ ของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 ก.ย.2551 กรมฯ ได้กำหนดจัดระดมความคิดเห็นต่อการทำเอฟทีเออาเซียน-อียู ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก เพื่อรายงานความคืบหน้าการเจรจา และเปิดให้มีการอภิปรายแสดงความเห็นต่อการเจรจา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเจรจา ซึ่งกรมฯ จะได้นำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการจัดทำท่าทีไทยในการเจรจาต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มสหวิริยา ได้กำลังก่อสร้างโรงถลุงแร่เหล็กที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเป็นโรงถลุงแร่เหล็กโรงแรกของประเทศไทย โดยนำเข้าสินค้าแร่และถ่านหินแบบ low sulphur จากออสเตรเลีย โดยมีท่าเรือน้ำลึกในการรับวัตถุดิบ แต่ที่ผ่านมาถูกชาวบ้าน และ NGO คัดค้าน ทำให้ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ