ระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC)

ข่าวทั่วไป Thursday January 29, 2009 14:59 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ หรือ เส้นทาง R3E หรือ R3A เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงการขนส่งทางบกระหว่างนครคุนหมิงกับกรุงเทพฯ มีระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร โดยผ่าน 3 ประเทศ คือ จีนตอนใต้ (700 กิโลเมตร) สปป.ลาว (250 กิโลเมตร) และ ไทย (850 กิโลเมตร) ขณะนี้เส้นทาง R3E ก่อสร้างเสร็จแล้ว และประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ประกอบด้วย ไทย สปป.ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ได้ร่วมกันเปิดเส้นทาง R3E อย่างเป็นทางการในช่วงการประชุมผู้นำ GMS ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคม 2551 ณ สปป.ลาว

เส้นทาง R3E ช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างนครคุนหมิง-กรุงเทพฯ จาก 48 ชั่วโมงเหลือเพียง 20 ชั่วโมง สามประเทศได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากเส้นทางดังกล่าว โดยไทยได้กำหนดการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงราย และการพัฒนาท่าเรือเชียงแสน ส่วนสปป.ลาวอยู่ระหว่างการจัดเตรียมการพัฒนาพื้นที่จุดแวะพัก (Rest areas) บนเส้นทางที่แขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทา โดยขอการสนับสนุนทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และสำหรับจีน กำหนดนโยบายมุ่งใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3E เพื่อกระจายสินค้าจากจีนตอนใต้ ลำเลียงวัตถุดิบ (ทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าเกษตร) และส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว ในภูมิภาค GMS ไปสู่การพัฒนามณฑลยูนนานเป็นประตูทางออกสู่อาเซียนและเอเชียใต้ รวมทั้ง สนับสนุนการขนส่งสินค้าบนเส้นทางดังกล่าวยังเป็นหลักประกันยืนยันการบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในขณะเดียวกัน จีนได้พัฒนาอีกหนึ่งเส้นทาง ระหว่างนครคุนหมิง-กวางสี-ลาวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง ซึ่งเชื่อมจีนกับเวียดนาม เพื่อนำมณฑลยูนนานออกสู่ตลาดโลกด้วย

ขณะนี้ การใช้เส้นทาง R3E สวนใหญ่เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน และการขนส่งถ่านหิน จากเหมืองเวียงภูคา ในสปป.ลาวเข้าสู่ไทย รวมทั้งการขนส่งสินค้าทั่วไประหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ประมาณ ร้อยละ 20 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดระหว่างสามประเทศ โดยร้อยละ 80 ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด ผู้ประกอบการยังคงใช้เส้นทางแม่น้ำโขงในการขนส่ง ใช้ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดดเชียงราย-ท่าเรือกว่านเล่ย เมืองจิ่งหงของจีน แม้ว่าจะสามารถขนส่งได้เพียงบางฤดูที่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำมาก

สภาพเส้นทาง R3E ในช่วงของไทย จังหวัดเชียงรายเป็นถนนสี่เลน ส่วนอำเภอเชียงของซึ่งห่างจากเมืองเชียงรายประมาณ 124 กิโลเมตร เป็นสองเลนและเป็นชุมชนเมืองหนาแน่น ขนานตามแม่น้ำโขง การเดินทางจากไทยไปตามเส้นทาง R3E ต้องข้ามแม่น้ำโขง ที่ด่านเชียงของ โดยใช้เรือหางยาวโดยสารข้ามฟาก ไปด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว

เส้นทาง R3E ในสปป.ลาว ทั้งในแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทา เป็นถนนคอนกรีตสองเลนบนเส้นทางยังไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นป่าเขาและพื้นที่เกษตร ในแขวงหลวงน้ำทาจีนได้เข้ามาปลูกยางพาราตามภูเขา และหมู่บ้านของชนเผ่าต่างๆกระจายตามเส้นทาง เมืองสำคัญบนเส้นทาง คือ เมืองเวียงภูคา ซึ่งมีเหมืองถ่านหินที่คนไทยได้รับสัมปทาน และเมืองหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นจุดแวะพักรับประทานอาหารเที่ยง ส่วนบริเวณด่านบ่อเต็น จีนได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์การค้า บ่อนคาสิโนและโรงแรม

ส่วนสภาพเส้นทางในจีน เป็นถนนคอนกรีตสี่เลน บนเส้นทางยังไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับสปป.ลาว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา พื้นที่เกษตรและหมู่บ้านไทลื้อกระจายตามเส้นทาง บริเวณด่านโมหาน (ชายแดนจีน-สปป.ลาว) มีร้านค้าต่างๆ เมืองสำคัญบนเส้นทาง คือ เมืองแวน และเมืองจิ่งหงหรือเมืองเชียงรุ้ง

ปัจจุบันแม้ว่าเส้นทาง R3E จะเปิดใช้แล้ว แต่ยังคงอยู่ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งสะพานมิตรภาพแห่งนี้จะเชื่อมการเดินทางด้วยรถยนต์ได้ตลอดเส้นทาง R3E ของทั้งสามประเทศ ไทย สปป.ลาว และจีน โดยไม่ต้องใช้แพขนานยนต์เหมือนเช่นปัจจุบัน นอกจากนี้ ขณะนี้ รถยนต์ไทยสามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารได้เฉพาะไทยกับสปป.ลาว ตามความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดนไทย-ลาว ลงนามเมื่อปี 2540 โดยรถยนต์ไทยยังไม่สามารถขนส่งสินค้าและผู้โดยสารเข้าไปในจีนได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการรอผลบังคับใช้ตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement : GMS CBTA) ซึ่งคาดว่าจะเปิดเดินรถขนส่งเสรีทั้งสินค้าและผู้โดยสารในปี 2554 ทำให้ปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศที่ประสบคือ ไม่สามารถขนส่งได้ด้วยรถบรรทุกคันเดียว เพราะเมื่อรถถึงด่านพรมแดนจะต้องขนถ่ายสินค้าไปขึ้นรถบรรทุกของอีกประเทศต่อไป ทำให้ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงและทำให้สินค้าบอบช้ำและเสียหาย ปัจจุบันการใช้เส้นทาง พบว่า จีนขนส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทยผ่านเส้นทาง R3E เพียงร้อยละ 20 แต่หากเส้นทาง R3E แล้วเสร็จ คาดว่าสินค้าจากจีนตอนใต้จะทะลักเข้ามายังไทยโดยเฉพาะเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตร และของเล่น ทั้งนี้ เป้าหมายของมณฑลยูนนาน ของจีนมุ่งจะขนส่งสินค้าผ่านสปป.ลาว มายังไทย และผ่านท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อต่อไปยังตลาดประเทศที่สาม

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของไทยในการรองรับการเปลี่ยนแปลง คือไทยควรปรับตัวเป็นพ่อค้าคนกลางและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยให้จีนเป็นผู้ผลิต เพราะจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ไทยจึงจะสามารถแข่งขันกับจีนได้ ด้านผู้ประกอบการขนส่งของไทย คือ บริษัท นิ่มซี่เส็ง ขนส่ง (1998) จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ของภาคเหนือ ได้เตรียมตัวรองรับการใช้ประโยชน์จากเส้นทางโดยการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ร่วมกับจีนและได้เป็นพันธมิตรกับกลุ่มจิ่งหงผู้ประกอบการโลจิสติกส์จากจีนแล้ว เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ภาคเหนือ และมีการสร้างคลังสินค้าที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายพื้นที่คลังสินค้าที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เส้นทางขนส่งแม่น้ำโขง ยังคงมีบทบาทในการขนส่งสินค้าประเภทยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพราะการขนส่งทางน้ำจะประหยัดมากกว่าทางถนน และสินค้าไม่บอบช้ำเสียหาย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

แท็ก คมนาคม   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ