คำกล่าวรายงานสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “กรอบเจรจา FTA อาเซียน-คู่เจรจา : ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดียฯ โดยอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2009 14:15 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

คำกล่าวรายงานสัมมนาเวทีสาธารณะ เรื่อง “กรอบเจรจา FTA อาเซียน-คู่เจรจา : ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย , MERCOSUR ชิลี และ GCC ขุมทองสินค้าบริการ และ การลงทุน..ที่ไม่ควรพลาด” โดย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ วันพุธที่ 18 มีนาคม 2552 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ถ.สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ

-----------------------------------------------

เรียน ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์

รองอธิบดี วิทยากร แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเจรจา เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ กับประเทศต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนโดยปฏิญญาอาเซียน

ได้ระบุว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของอาเซียน อันดับ 1 คือ เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่จะหยิบยกมาพิจารณาให้เป็นไปตามปฎิญญาของอาเซียน คือ การทำให้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-กับประเทศคู่เจรจา ให้เป็นประโยชน์แก่ทั้ง2 ฝ่ายให้มากที่สุด

นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ยังกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนที่จะเริ่มเจรจากับประเทศใด ๆ และต้องนำความเห็นไปประกอบการจัดทำกรอบเจรจาด้วย ซึ่งงานสัมมนาในวันนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสอภิปรายถึงการเจรจาในอนาคต ในประเด็นเรื่อง การค้าบริการ การลงทุน ของอาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี และ อาเซียน-อินเดีย รวมทั้งการเจรจาที่อาจจะมีขึ้นกับกลุ่มตลาดใหม่ เช่น อาเซียน — MERCOSUR , อาเซียน - GCC และไทย - ชิลี

สำหรับชิลีนั้น จัดเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคอเมริกาใต้ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 4.9 ต่อปี และมีรายได้ประชากรเฉลี่ย 12,590 เหรียญสหรัฐ เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง นับเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพของไทย อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับภาคการผลิตของไทยได้

MERCOSUR มีจุดเด่นที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ครอบคลุมภูมิภาคอเมริกาใต้ตอนล่าง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซุเอลา ซึ่งมีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน มีรายได้ประชาชาติรวมกันกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้ประชากรเฉลี่ย 9,940 เหรียญสหรัฐ กลุ่ม MERCOSUR มีปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มลาตินอเมริกาทั้งหมด

แม้ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยและกลุ่ม MERCOSUR จะยังไม่มากนัก แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีสินค้าที่เกื้อหนุนกัน ดังนั้น การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่ม MERCOSUR จะช่วยขยายโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทย และผลักดันให้ MERCOSUR เป็นประตูการค้าของไทยในการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอเมริกาใต้อีกด้วย

สำหรับกลุ่มความร่วมมืออ่าว อาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council หรือ กลุ่ม GCC จัดได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูง ในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะในการเป็นตลาดใหม่ ทั้งด้านสินค้าและบริการ เนื่องจาก GCC มีประชากรเกือบ 40 ล้านคน นับเป็นตลาดขนาดใหญ่พอสมควร ประชากรมีรายได้สูง เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 22,000 เหรียญสหรัฐฯ มีกองทุนที่จะนำเงินไปลงทุนในประเทศต่างๆจำนวนมหาศาลติดอันดับต้นๆของโลกเช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการซึ่งเป็นสินค้าและบริการประเภทที่ไทยมีความชำนาญ นอกจากนี้ GCC หลายประเทศกำลังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค โดยมีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งนี้ หากมีการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันให้ใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งในระดับสองฝ่ายและภูมิภาคต่อภูมิภาค ก็จะช่วยส่งเสริมให้ การขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ GCC รวมทั้ง อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่ง

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีโอกาสในการขยายการส่งออกไป GCC ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ อาทิ สินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารฮาลาล เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องตกแต่ง /ประดับบ้าน วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

สาขาการบริการและการลงทุนที่ไทยมีโอกาสในการขยายตัวกับ GCC ได้แก่ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมอาหาร ร้านอาหาร บริการทางการแพทย์ สปา ช่างตัดผม รวมทั้ง มีโอกาสในการเข้าไปทำงานของบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆของไทย นอกจากนี้ GCC ยังเป็นตลาดส่งออกแรงงานสำคัญของไทย และยังมีความต้องการแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมาก

นับว่า MERCOSUR , GCC , และ ชิลี เป็นคู่ค้ารายใหม่ที่เป็นตลาดสำคัญที่ไทยควรดำเนินการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดในการขยายตลาดการค้าของประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ภาคประชาชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบความคืบหน้าการเจรจา FTA และหาทางใช้ประโยชน์จากความตกลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันเพื่อรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนในตลาดที่จะทำการสัมมนาและนำข้อคิดเห็นมาประกอบในการจัดทำกรอบการเจรจา ในส่วนที่ต้องมีการดำเนินการต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 190

การจัดงานในครั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้รับเกียรติจากผู้แทนภาครัฐ และภาคเอกชนไทย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่ทำการค้ากับประเทศเหล่านี้ มาบอกเล่าประสบการณ์ตรง ว่าได้ประโยชน์ หรือยังติดปัญหาเรื่องใดบ้างในการดำเนินการทางการค้า ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ใช้ประกอบในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ดิฉันขอเรียนเชิญ ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงาน สัมมนาเวทีสาธารณะ “กรอบเจรจา FTA อาเซียน-คู่เจรจา : ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย MERCOSUR ชิลี และGCC ขุมทองสินค้าบริการ และการลงทุน..ที่ไม่ควรพลาด!?”

ขอบคุณมากค่ะ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630 -พห-


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ