ความตกลงการค้าเสรี: บทสรุปเชิงนโยบาย

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2009 14:05 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ป่วยการณ์ที่จะมาต่อล้อต่อเถียงกันว่าความตกลงการค้าเสรี (FTA) ดีหรือไม่ แต่จะบริหารจัดการกระบวนการดังกล่าวให้ดีที่สุดได้อย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาจัดทำ FTA มีการจัดสรรปันส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจำกัดความเสี่ยงที่จักเกิดขึ้นในเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยเฉพาะต่อวิสาหกิจขนาดย่อมและเกษตรกร

แนวทางในการปรับตัว

ในภาพรวมของเศรษฐกิจมหภาค กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้มีบทบาทหลักในการจัดทำ FTA ตระหนักถึงความจำเป็นของการปรับกลไกทั้งทางด้านอุปสงค์ (การขยายตลาดโดยมี FTA เป็นเครื่องมือ) ให้สอดรับกับทางด้านอุปทาน (การปรับตัว/ปรับโครงสร้างธุรกิจ/เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการผลิตสินค้า/บริการที่มีคุณภาพ/มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดสากล) สินค้า/บริการรายการใดที่มีศักยภาพการแข่งขันอยู่แล้ว เช่น พืชสมุนไพรและบริการสปา ก็สมควรเร่งผลักดันให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป ส่วนสินค้า/บริการที่ไทยเสียเปรียบคู่ค้า เช่น กาแฟและน้ำมันปาล์ม จะต้องมาวิเคราะห์ว่าไทยด้อยกว่าคู่แข่งในประเด็นใดบ้าง และจะมีกลยุทธ์ในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสการค้าเสรีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพื่อผ่อนปรนผลกระทบและพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย นอกจากนี้ ในการเจรจา FTA ยังต้องพิจารณาประเด็นทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า/บริการแต่ละประเภทเพื่อให้ได้รับผลกระทบด้านลบน้อยที่สุด เช่น การคุ้มครองหรือปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด อาจมีส่วนปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มต้นทุนของผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ก็เป็นการปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานให้สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวในด้านอุปทานมีความซับซ้อนและกินเวลายาวนานกว่าด้านอุปสงค์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงต้องร่วมมืออย่างบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วงภายใต้กรอบเวลาอันจำกัด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดแต่เพียงในมิติเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมิติการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น ประเด็นขยะพิษภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น

กลยุทธ์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

สำหรับกลยุทธ์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 สถานการณ์ คือ

ในกรณีที่ผลกระทบอาจมีทั้งบวกและลบ การปรับตัวของอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กของไทยจำเป็นต้องประเมินผลกระทบที่มีต่อผลิตภัณฑ์เหล็กจากการที่ไทยทำ FTAs กับทุกประเทศที่มีเทคโนโลยีเหล็กสูง มีแหล่งแร่เหล็กและถ่านหิน ทั้งในปัจจุบัน (ออสเตรเลีย เกาหลี จีน อินเดีย ญี่ปุ่น) และอนาคต (บราซิล รัสเซีย ยูเครน) ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กแบบองค์รวม (Integrated Mills)[1] เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ยังมีขนาดเล็ก (Mini Mills)[2] แนวทางในการปรับตัวของอุตสาหกรรมเหล็กไทยจึงต้องใช้การเจรจาจัดทำ FTAs ให้เป็นประโยชน์โดยเป็นเครือข่ายหรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ดังกล่าวที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่สามารถดำเนินการได้ เป็นต้น

ในกรณีที่ผลกระทบเป็นลบ การปรับตัวของภาคการผลิตไทยที่เห็นเด่นชัดคืออุตสาหกรรมโคนม ซึ่งเป็นผลมาจาก FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการบริหารจัดการ/ควบคุมอุปทานน้ำนมดิบให้สอดรับกับอุปสงค์นมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมอื่นๆที่ใช้น้ำนมดิบเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะต้องบริหารจัดการการจัดซื้อจัดหาสวัสดิการนมโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการผลิตน้ำนมดิบให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตซึ่งจะสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรให้สอดรับกับราคานมในตลาดโลก โดยที่เกษตรกรก็ยังทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ แต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป กล่าวโดยสรุปก็คือ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดำรงอาชีพอยู่ได้โดยจัดการอุปทานภายในประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม กระบวนการในการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านบวกหรือด้านลบจากการเจรจาจัดทำ FTAs ดังกล่าว จำเป็นต้องมีแม่งานรับไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้สัมฤทธิ์ผลอย่างจริงจัง และต้องมีกระบวนการติดตาม ประเมินผล และรายงานความคืบหน้า พร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้ตามที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน

ข้อสังเกตส่งท้าย

ในการดำเนินยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศข้างต้น มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยจักต้องสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญรอบรู้และเข้าใจภาษา ขนบธรรมเนียม/ประเพณี และระบอบการเมืองการปกครองของประเทศต่างๆที่ไทยมีความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างสง่างาม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ