การปกป้องทางการค้า : กระแสที่ต้องจับตามอง (TRADE PROTECTION: INCIPIENT BUT WORRISOME TRENDS)

ข่าวทั่วไป Tuesday May 12, 2009 13:53 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

บทความที่จัดทำโดยธนาคารโลกเรื่อง Trade Protection: Incipient but Worrisome Trends[1] ได้กล่าวถึงกระแสการปกป้องทางการค้าในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำว่า ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ได้หันมาใช้มาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้น เพื่อปกป้องการผลิตภายในประเทศและรักษาการจ้างงานทั้งๆ ที่ผลของใช้มาตรการดังกล่าวยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้รายงานมาตรการปกป้องทางการค้าใหม่ๆ ที่ประเทศต่างๆ บังคับใช้ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง และเสนอทางออกของปัญหาว่าขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการเจรจารอบโดฮา ซึ่งในระหว่างที่การเจรจารอบโดฮายังดำเนินอยู่นี้ องค์การการค้าโลกและกลุ่มจี 20 จะต้องสร้างระบบการตรวจตราการค้าโลกขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบังคับใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ถึงแม้ว่า 1) ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมิใช่ผลของมาตรการปกป้องทางการค้า 2) ปริมาณการค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปกป้องทางการค้ามีไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ และ 3) ประเทศต่างๆ ยังมิได้ใช้มาตรการทางภาษีและการอุดหนุนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกตกต่ำมากยิ่งขึ้น ประเทศต่างๆ ก็อาจหันมาใช้มาตรการปกป้องทางการค้ากันมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลร้ายในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์เมื่อปี ค.ศ. 1930

มาตรการปกป้องทางการค้าที่ประเทศต่างๆ บังคับใช้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีดังนี้

มาตรการภาษี เช่น

  • รัสเซีย เพิ่มภาษีรถยนต์มือสอง
  • เอกวาดอร์ เพิ่มภาษีขาเข้าของสินค้ามากกว่า 600 รายการ

มาตรการที่มิใช่ภาษีเกี่ยวกับการนำเข้า เช่น

  • อาร์เจนตินา บังคับให้ผู้ส่งออกต้องขออนุญาตเพื่อนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น ส่วนประกอบรถยนต์ สิ่งทอ โทรทัศน์ ของเล่น รองเท้า และเครื่องหนัง เป็นต้น
  • อินโดนีเซีย ลดจำนวนท่าเรือและสนามบินที่สามารถใช้เป็นจุดรับสินค้านำเข้า 5 หมวด คือ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ของเล่น อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารและเครื่องดื่ม ให้เหลือเพียง 5 แห่ง
  • จีน สั่งห้ามนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น เนื้อหมูจากไอร์แลนด์ ชอกโกแลตบางชนิดจากเบลเยี่ยม ผลิตภัณฑ์นมจากสเปน และบรั่นดีจากอิตาลี เป็นต้น
  • อินเดีย สั่งห้ามนำเข้าของเล่นจากจีน

การอุดหนุนสินค้าส่งออก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างยิ่งเพราะขัดต่อร่างแบบปฏิบัติโดฮา (Draft Doha Modalities) เช่น

  • สหภาพยุโรป ประกาศอุดหนุนสินค้าส่งออกรายการใหม่ คือ เนย เนยแข็ง และนมผง
  • จีนและอีนเดีย คืนภาษีให้แก่ผู้ส่งออกมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศร่ำรวยยังให้การอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่บริษัทรถยนต์ในประเทศมากถึง 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ ฝรั่งเศส แคนาดา อังกฤษ อาร์เจนตินา สวีเดน เยอรมนี บราซิล จีน และอิตาลี ล้วนอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งสิ้น นอกจากนี้ กระแสการปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์นี้ได้ครอบคลุมไปถึงการปิดโรงงานในเครือที่ต่างประเทศเพื่อรักษาการจ้างงานภายในประเทศ โดยมิได้คำนึงถึงประสิทธิภาพในการผลิตของโรงงานเหล่านั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด

กรณีสอบสวนการทุ่มตลาดในปี พ.ศ. 2551 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2550 ร้อยละ 15 โดยประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้เรียกร้องให้สอบสวนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อินเดียเรียกร้องให้สอบสวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กกล้าไร้สนิมรีดร้อนและรีดเย็น ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกมากถึง 19 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ กระแสการปกป้องทางการค้าได้ขยายขอบเขตไปในภาคอื่นๆ เช่น

  • ภาคการเกษตร ประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องออกมาตรการปกป้องสินค้าเกษตรรายการใหม่ เพราะว่าหากสินค้าเกษตรราคาต่ำ ก็สามารถใช้มาตรการอุดหนุนได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการอุดหนุนที่บิดเบือนราคาตลาด และเป็นการผลักภาระไปให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรในที่อื่นๆ เช่น แอฟริกา เอเชีย และอเมริกา ที่มีเงินอุดหนุนไม่มากเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • ภาคการเงินมีการเลือกปฏิบัติ โดยประเทศจะให้เงินสนับสนุนธนาคารสัญชาติตนมากกว่าธนาคารต่างชาติ
  • ภาคแรงงาน สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เพิ่มข้อจำกัดในการออกใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานต่างด้าว พนักงานโรงกลั่นน้ำมันในอังกฤษประท้วงหยุดงานในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการว่างงาน เนื่องจากบริษัทจ้างแรงงานโปรตุเกสและอิตาเลียนมาทำงาน การหยุดงานดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงในลักษณะเดียวกันขึ้นทั่วประเทศอังกฤษ มาเลเซียสั่งห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้า และร้านอาหารเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดการว่างงานของแรงงานในประเทศ

มาตรการที่กล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะใช้ความร่ำรวยปกป้องการผลิตภายในประเทศ โดยให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้าหลายชนิดร่วมกัน ตราบใดที่การเจรจารอบโดฮายังหาข้อสรุปไม่ได้ เศรษฐกิจโลกก็ต้องตกอยู่ในวังวนของการปกป้องทางการค้าต่อไป ดังนั้น ในระหว่างที่การเจรจารอบโดฮากำลังดำเนินอยู่ องค์การการค้าโลกได้ตัดสินใจเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ว่าจะสนับสนุนการร่วมมือกันตรวจตราระบบการค้าโลก นอกจากนี้ กลุ่มประเทศจี 20 อาจต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ประเทศต่างๆ ออกมาตรการปกป้องทางการค้าเกิดเพิ่มขึ้นอีก

ในอนาคต ดังนี้

จัดทำรายงานทุก 3 เดือน เพื่อรายงานการปกป้องทางการค้า การอุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรรายการใหม่ ส่งให้องค์การการค้าโลก และทำวิจัยต่อยอดเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการปกป้องทางการค้าและการจ้างงาน

ส่งเสริมให้ใช้มาตรการป้องกันพื้นฐาน (Standard Safeguard Provisions) แทนการใช้กฎหมายการทุ่มตลาด

เร่งคลี่คลายปัญหาทางเทคนิคที่ทำให้การเจรจารอบโดฮาล่าช้า เช่น ประเด็นกลไกป้องกันพิเศษ (Special Safeguards Mechanism) และการเจรจารายสาขา (Sectoral Negotiation) เป็นต้น

เพิ่มความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) ให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ