รายงานเรื่อง วิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Report to the TPRB from the Director-General on the financial and economic crisis and trade-related developments)[1]
นับแต่มีการจัดทำรายงานเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต่อองค์กรทบทวนนโยบายทางการค้า (Trade Policy Review Body) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2009 สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ยังคงไม่ดีนัก ในปี 2009 คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวลดลงเป็นร้อยละ -9 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการความต้องการในตลาดโลกลดลงและปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมการเงินเพื่อการค้า (Trade finance) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกในประเทศกำลังพัฒนา
ในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ ทุกประเทศจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายกีดกันการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก WTO ต่างต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้มาตรการกีดกัดเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษี การใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีใหม่ๆ ตลอดจนการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า (Trade-remedy actions) นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูการขยายตัวการค้าโลก ซึ่งบางส่วนอยู่ในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐ (State aids) การให้การอุดหนุน หรือมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อ/ใช้/ลงทุน/จ้างงานที่เอื้อต่อสินค้าและบริการในประเทศแทนการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ
แม้ว่าการใช้มาตรการการค้าใหม่ๆ เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่กระทำกันเสมอในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ก็ทำให้มีความเสี่ยงด้านนโยบายทางการค้าเพิ่มขึ้น เช่น หากมีการใช้มาตรการกีดกันในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การหดตัวของการค้าโลกเลวร้ายยิ่งขึ้นและทำลายความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีในการกำหนดนโยบายทางการค้า (“Best practice” trade policy) ควรเป็นการใช้มาตรการการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกับการลดข้อจำกัดทางการค้า (Trade restrictions) ในการนี้ อาจถือว่าการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่อยู่ในระหว่างการเจรจารอบโดฮานั้นเป็น “new stimulus package” สำหรับผู้บริโภค ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาการค้าบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้าซึ่งท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ในระหว่างนี้ ประเทศสมาชิก WTO ไม่ควรใช้มาตรการกีดกันทางการค้าใหม่หรือให้การอุดหนุนที่บิดเบือนทางการค้า รวมถึงรับรองว่ามาตรการทางการค้าที่จะนำมาใช้นั้นมีความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และมีลักษณะเป็นการชั่วคราว
1. บทนำ
รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2008 ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยจะนำเสนอประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบการค้า ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ WTO ได้ขอให้ประเทศสมาชิกให้ข้อมูลการค้าและการใช้มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนกันยายน 2008
2. เศรษฐกิจและแนวโน้มทางการค้า
เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างมากนับแต่เดือนมกราคม 2009 ประเทศพัฒนาแล้วได้รับผลกระทบอย่างมาก โดย GDP ไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2008 ลดลงร้อยละ -1.5 ซึ่ง ญี่ปุ่น GDP ลดลงมากที่สุดถึงร้อยละ -3.3 ในขณะที่ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ GDP ลดลงเป็นร้อยละ 1.5 และ -0.1 ตามลำดับ สำหรับปี 2009 IMF คาดว่าเศรษฐกิจของโลกจะขยายตัวร้อยละ (-0.5)-(-1) ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี โดยเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวลดลงที่ร้อยละ (-3)-(-3.5) และเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5
ปริมาณและมูลค่าการค้าโลกลดลงตั้งแต่ปลายปี 2008 ซึ่งการที่มูลค่าการค้าโลกลดลงนั้นอาจเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าและค่าเงินของสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของหลายประเทศ เมื่อเทียบการขยายตัวทางการค้ารายไตรมาสปีต่อปี (Quarterly year-on-year) ยังคงอยู่ในเชิงบวกโดยเฉพาะในสามไตรมาสแรกของปี 2008 และขยายตัวติดลบในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -12 ในไตรมาสที่ 4 การขยายตัวของการส่งออกของสหภาพยุโรป (รวมการค้าภายในกลุ่มสหภาพฯ) ลดลงเป็นร้อยละ -16 ซึ่งการลดลง เป็นผลมาจากการส่งออกภายในสหภาพฯ ที่ลดลงถึงร้อยละ -18 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นผลมาจากความต้องการของตลาดลดลงซึ่งเกิดจากค่าเงินยูโรลดลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ (ในช่วงเดือนมิถุนายน 2008 -กุมภาพันธ์ 2009 ค่าเงินยูโรลดลงจาก 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อยูโรเป็น 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อยูโร)
มูลค่าการส่งออกและนำเข้าบริการในกลุ่มประเทศ OECD ขยายตัวลดลงเป็นร้อยละ 11.8 และร้อยละ 10.6 ตามลำดับ โดยสาขาที่ได้รับผลกระทบคือ บริการการเงิน การขนส่งทางอากาศและทางน้ำ และการท่องเที่ยว
แม้ว่าการค้าโลกมีแนวโน้มดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2009 แต่ในภาพรวมของทั้งปียังคงไม่ดีนัก ทั้งนี้ WTO คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าของโลกในปี 2009 จะลดลงอยู่ที่ร้อยละ -9 ซึ่งถือว่าลดลงด้วยปริมาณที่มากที่สุดในรอบ 60 ปี โดยการส่งออกของประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับผลกระทบมาก ลดลงร้อยละ -10 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะอยู่ที่ร้อยละ (-2)-(-3)
3. การค้าและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้า
นับแต่เดือนกันยายน 2008 มีแรงกดดันให้มีการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงานและธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นที่จับตาว่าแรงกดดันดังกล่าวจะมีผลอย่างไรต่อกระบวนการจัดทำนโยบายการค้าของประเทศต่างๆ
(1) การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้า รัฐบาลบางประเทศได้ใช้มาตรการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยการลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้า/ส่งออกและเพิ่ม Trade finance facilities เช่น บราซิล เพิ่มจำนวนบริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Proex) จีน เพิ่มการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT rebate rate) ของการส่งออกสินค้าบางรายการ ยกเลิกภาษีส่งออกสินค้า 102 รายการซึ่งรวมถึงแผ่นเหล็กบางประเภท สหภาพยุโรป แก้ไข State Aid Guideline เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกระยะสั้นและระยะยาว ฮ่องกง ตั้ง Hong Kong Export Credit Insurance Corporation เพื่อให้ประกันความเสี่ยงเรื่องการจ่ายเงินแก่ผู้ส่งออกอินเดีย ยกภาษีนำเข้า Naphtha ที่นำมาใช้ในสาขาพลังงาน ยกเลิกภาษีส่งออกสินแร่เหล็ก เพิ่มรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าโลหะมีค่า ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้า worked coral อินโดนีเซีย ลดภาษีนำเข้าสินค้า 18 รายการ คาซัคสถาน ลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ มาเลเซีย ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าซีเมนต์และเปิดเสรีการนำเข้าสินค้าเหล็ก ฟิลิปปินส์ ลดภาษีข้าวสาลี muslin และซีเมนต์ รัสเซีย ลดภาษีนำเข้าเครื่องบินพลเรือน ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ลดภาษีส่งออกน้ำมัน เป็นต้น
(2) การจำกัดและการบิดเบือนทางการค้า WTO ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดการนำเข้าและส่งออก การอุดหนุน และการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2008 ซึ่งหลายมาตรการเพิ่งมีการใช้เร็วๆ นี้หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อให้มีผลใช้บังคับ จึงยังไม่เห็นผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้ต่อการค้าชัดเจนนัก อย่างไรก็ดี วิกฤติเศรษฐกิจได้แสดงให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ WTO และตารางข้อผูกพันของประเทศสมาชิกยังเปิดช่องให้มีการจำกัดและกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นจนกว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจารอบโดฮาได้
บางประเทศมีการใช้มาตรการจำกัดหรือบิดเบือนทางการค้าใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเริ่มมีการกำหนดให้ใช้ใบอนุญาตนำเข้า ภาษีนำเข้า และมาตรการเยียวยาทางการค้าเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในที่ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่มีผลกระทบเพิ่มขึ้นต่อการค้า เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรฐาน/เทคนิค รวมถึงการให้การความช่วยเหลือโดยรัฐ (State aid) เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมบางประเภทโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในบางกรณีเงื่อนไขในการความช่วยเหลืออาจจำกัดหรือบิดเบือนการค้าได้ เช่น กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศ ใช้วัตถุดิบบางส่วน/แรงงาน หรือรัฐบาลเข้ามาบริการจัดการในบริษัทเอง ซึ่งมักมีการกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้อย่างไม่เป็นทางการ จึงยากที่จะตรวจสอบว่ามีกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจริงหรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไร
การใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ในปี 2008 มีการไต่สวนการทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปี 2007 และแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้นในปี 2009 ซึ่งจนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2009 มีการเริ่มไต่สวนการทุ่มตลาดแล้ว 29 กรณี สำหรับการตอบโต้การอุดหนุนนั้น ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการตอบโต้การอุดหนุนในปี 2008 อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 (มกราคม-มีนาคม) มีการเริ่มไต่สวนการอุดหนุนแล้ว 3 กรณี ส่วนการใช้มาตรการปกป้อง ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจนเหมือนเช่นการไต่สวนการทุ่มตลาด สำหรับปี 2008 มีการใช้มาตรการปกป้อง 11 กรณี เพิ่มขึ้นจากปี 2007 แต่น้อยกว่าปี 2006 ซึ่งมีการใช้มาตรการปกป้อง 13 กรณี อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสถิติเดิม มักมีการใช้มาตรการปกป้องเพิ่มขึ้นหลังจากภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากวิกฤติแล้ว 1 ปี ดังนั้น จึงคาดว่าอาจมีการใช้มาตรการปกป้องเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2009
4. มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการสนับสนุนด้านการเงินและ (Fiscal stimulus and financial support programs)
ในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ การใช้มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการสนับสนุนด้านการเงินเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคการค้า ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาดโลกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศฟื้นตัว นอกจากนี้ การฟื้นฟูตลาดสินเชื่อก็เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากผู้ประกอบการ (Traders) บางรายโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาต้องประสบกับการเข้าถึงตลาดการเงินในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
เพื่อให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ การเปิดตลาดการค้าย่อมมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของเงิน และการกีดกันทางการค้าย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิต การจำกัดทางการค้าที่กระทำโดยจัดเก็บภาษีจากรายได้/การผลิตย่อมขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ของมาตรการที่มุ่งกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การที่รัฐให้เงินสนับสนุนในสาขาใดสาขาหนึ่งเฉพาะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่างชาติได้
มาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศสมาชิก G20 ส่วนมากและสมาชิก WTO บางประเทศได้ประกาศใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงปี 2009-2010 IMF ได้แนะนำให้ใช้มาตรการเหล่านี้กระตุ้นให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 2 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีประเทศสมาชิก G20 ใดสามารถทำให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้
มาตรการด้านการคลังอาจช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้โดยการเพิ่มความต้องการของตลาดโลกมากกว่าที่จะมีผลเป็นการจำกัดทางการค้า อย่างไรก็ดี มาตรการที่มุ่งทดแทนการนำเข้า ช่วยเหลือผู้ประกอบการและสร้างงานในประเทศอาจส่งผลเป็นการจำกัดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ เช่น ข้อกำหนดให้ซื้อของในประเทศ (Buy national requirements)
โครงการสนับสนุนด้านการเงิน ประเทศที่ประสบกับวิกฤติการเงินต่างอัดฉีดเงินให้แก่สถาบันการเงิน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือของรัฐไม่ว่าจะให้แก่สถาบันการเงินหรืออุตสาหกรรมใดอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนตลาดหรือมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมได้ นอกจากนี้ การพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอาจมิได้อยู่บนพื้นฐานเพื่อหวังผลเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการด้วย
5. ธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้า (Trade finance)
การที่สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2008 ได้เพิ่มต้นทุนของการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้า เช่น Letter of credit ในการนี้ WTO ได้ร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในการช่วยแบกรับความเสี่ยงจากภาคเอกชนและส่งเสริมให้มีการให้สินเชื่อร่วมกัน (co-financing) ระหว่างผู้รับทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้า (Providers of trade finance) ซึ่งในปี 2008 มีสถาบันการเงินที่รัฐให้การสนับสนุนร่วมมือทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้า (Trade finance facilitation program) การประกัน และการดูแลเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ในปี 2009 คาดว่า ธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้าจะยังประสบปัญหาต่อไป โดยที่ WTO จะพยายามสนับสนุนให้ธนาคารโลกมีมาตรการใหม่ๆ เกี่ยวกับการเสริมสภาพคล่องและการประกันการให้สินเชื่อเพื่อการค้า (Trade credit insurance)
6. ผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา
นับแต่ช่วงปลายปี 2008 ประเทศกำลังพัฒนาต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินและวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารโลกคาดว่าในปี 2009 ประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาขาดแคลนสินเชื่อ (Financing shortfall) จำนวน 270-700 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันความต้องการหาแหล่งสินเชื่อจากต่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้นเพราะรายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า ปริมาณการส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนาจะลดลงที่ร้อยละ (-2)-(-3) ในปี 2009 ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ขณะที่ในปีนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงร้อยละ 1.5-2.5 โดยเป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง ข้อจำกัดด้านแหล่งเงินทุน (Financing constraints) และราคาสินค้าที่ลดลง
7. คำแถลงของรัฐบาลและรายงานขององค์การระหว่างประเทศ
คำแถลง ผู้นำประเทศต่างๆ ได้เข้าร่วมประชุมในกรอบต่างๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเงิน รวมถึงผลกระทบของวิกฤติเหล่านี้ และต่างยอมรับว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ร้ายแรงและจำเป็นต้องมีมาตรการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้นำประเทศทั้งหลายจึงเรียกร้องไม่ให้มีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้มีการสรุปผลการเจรจารอบโดฮาให้ได้ เช่น Communiqu? of the 10th Annual Meeting of G20 Finance Ministers and Central Bank Governors, Brazil และ Statement by APEC Senior Officials following their meeting in Singapore เป็นต้น
รายงาน วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกก่อให้เกิดผลกระทบต่อหลายด้าน เช่น ผลกระทบต่อความพยายามลดความยากจนในโลก ซึ่งธนาคารโลกรายงานว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้น 46 ล้านคนในปี 2009 องค์การแรงงานระหว่างประเทศคาดว่าจะมีคนตกงานถึง 51 ล้านคน และ 30 ล้านคนอาจกลายเป็นคนว่างงาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่น การปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ ผลกระทบต่อประเทศที่มีรายได้น้อย และการตระหนักเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630